3 ห่วง 2 เงื่อนไข : หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ที่สำคัญที่สุด ทุกคนควรเข้าใจ “คำนิยาม” ว่าความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 ห่วง และ 2 เงื่อนไข โดย 3 ห่วง คือ
ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่นการผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
ส่วน 2 เงื่อนไข คือการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน ประกอบไปด้วย
– เงื่อนไขความรู้ หมายถึง ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการ วางแผน และความระมัดระวังในขั้นตอนปฏิบัติ
– เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
“เศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุด กรอบแนวคิดของหลักปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา อันมีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าความพอเพียง ที่ประกอบด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”
“หากทุกฝ่ายเข้าใจกรอบแนวคิด คุณลักษณะ คำนิยามของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแจ่มชัดแล้ว ก็จะง่ายขึ้นในการนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ และจะนำไปสู่ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี”
ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง
ความนำแนวทางการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 2549) จะยึดหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”เป็นปรัชญานำทางในการพัฒนายึด ทางสายกลาง อยู่บนพื้นฐานของความสมดุลพอดีและความพอประมาณอย่างมีเหตุผล นำไปสู่สังคม ที่มีคุณภาพทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง สามารถพึ่งตนเอง มีภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันโลก

“...ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ก็หมายอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง เมื่อปีที่แล้วตอนที่พูดพอเพียง แปลในใจ แล้วก็ได้พูดออกมาด้วย ว่าจะแปลเป็น Self-sufficiency (พึ่งตนเอง)ถึงได้บอกว่าพอเพียงแก่ตนเอง แต่ความจริงเศรษฐกิจพอเพียงนี้ กว้างขวางกว่า Self-sufficiency คือ Self-sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง (พึ่งตนเอง) ..เป็นตามที่เขาเรียกว่ายืนบนขาของตัวเอง (ซึ่งแปลว่าพึ่งตนเอง) ..แต่พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือ คำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอดังนั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกคนมีความคิด “อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ” มีความคิดว่าต้องทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าจะต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง...”
พระราชดำรัชในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
ความสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง
จากการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ทัดเทียมกับนานนาอารยประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมา นับแต่เริ่มนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2504 เน้นการพัฒนาที่สร้างระบบสาธารณูปโภค การวางโครงสร้างตามแบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่เน้นการผลิตเพื่อขายทรัพยากรธรรมชาติ ถูกปรับเป็นปัจจัยเพื่อการผลิต และป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมในขณะที่วิถีชีวิตและระบบการผลิตของชุมชนไทย เป็นลักษณะการผลิตเพื่อสนองความจำเป็นพื้นฐาน มิได้มุ่งผลิตเพื่อขาย จึงถูกมองในเชิงวิธีคิดและนโยบายของรัฐว่าล้าหลังและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแบบแผนการผลิต และความเป็นอยู่ใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนากระแสหลัก ซึ่งส่งผลต่อวิถีแห่งภูมิปัญญา แบบแผนการดำรงชีวิต และการผลิต ตลอดจนวัฒนธรรมของชุมชนอันหลากหลายให้ไปอยู่ในสังคมทุนนิยมผลของการพัฒนาประเทศอย่างรีบเร่งนี้ ที่เน้นความสำคัญในส่วนของภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม จึงเป็นปัจจัยทำให้เกิดช่องว่างทางสังคม ทั้งในแง่รายได้และโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร ยิ่งเวลาผ่านไป ปัญหากลับยิ่งเพิ่มพูนทวีคูณ และซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ มีเพียงคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยของประเทศสามารถเข้าถึงทรัพยากร และมีโอกาสทางสังคมสูง สามารถเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกับคนส่วนใหญ่ที่ยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรมและแรงงานกลับเข้าไม่ถึงปัจจัยการผลิต และค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
ฉะนั้น วิกฤตเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านการเงิน เมื่อปี พ.ศ. 2540 เป็นภาพสะท้อนหนึ่งของการพัฒนาประเทศที่ล้มเหลว ที่ไม่สามารถสร้างความเสมอภาค ความยุติธรรม แก่สังคมอย่างทั่วถึง ฉะนั้น จึงเป็นโอกาสที่สังคมไทยในขณะนี้ จะต้องทบทวนถึงข้อจำกัดและความผิดพลาดจากการพัฒนาที่ผ่านมาทางหนึ่งถือได้ว่าเป็นการแปรวิกฤตให้เป็นโอกาสเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมกับสังคมไทย
ท่ามกลางภาวะตีบตันทางสังคมและเศรษฐกิจนั้น แนวคิดหนึ่งได้ถูกเสนอสู่สังคม ผ่านกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นเสมือนแสงสว่างส่องนำทางให้แก่ประชาชนชาวไทยได้นำกลับไปปรับใช้เพื่อบรรเทาความทุกข์ที่เกิดจากปัญหาที่มีอยู่ในขณะนั้น
เศรษฐกิจพอเพียง จึ่งนับได้ว่าเป็นแนวคิดที่มีคุณค่า อย่างน้อย 2 นัย ด้วยกัน
ประการที่หนึ่ง เป็นเครื่องเตือนสติให้แก่ชีวิตปวงชนชาวไทยในภาวการณ์เปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตในกระแสการพัฒนาและยังเป็นการเสนอแนะแนวทางออกจากวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ โดยประยุกต์เข้ากับภูมิปัญญาของประชาชนอย่างลงตัว
ประการที่สอง แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ยังเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในฐานะเป็นแนวคิดทฤษฎี และเป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยไม่ได้เฉพาะเจาะจงในกลุ่มเกษตรกรเท่านั้น หากแต่ครอบคลุมถึงทุกคนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ เอกชน หรือประชาชนในส่วนอื่น ๆ
ทั้งนี้ แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หรือทฤษฎีใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คอยเตือนและแนะนำเสมอมา พระองค์เชื่อมั่นว่าการที่ชุมชน ท้องถิ่น สามารถพึ่งตนเองได้นั้น เป็นทางออกหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤตนี้ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น