วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประวัติ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส



        

               คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เป็นนักเดินเรือชาวเจนัว ที่เป็นหนึ่งในนักสำรวจเพื่อหาโลกใหม่ในอดีต
สันนิษฐานกันว่าเขาเกิดเมื่อราว ค.ศ. 1451 เกิดและเติบโตที่เมืองเจนัว ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางการค้า
ของประเทศอิตาลีในเวลานั้น บิดาของเขามีชื่อว่าโดเมนิโก โคลัมโบ เป็นชนชั้นกลางทำอาชีพทอขนสัตว์
ที่เดินทางไปมาระหว่างเมืองเจนัวและซาโวนา ส่วนมารดามีชื่อว่าซูซานน่า ฟอนตานารอซโซ และโคลัมบัส
ยังมีพี่ชายที่ชื่อบาร์โธโลมิวอีกคนหนึ่งที่มีอาชีพเป็นนักทำแผนที่โลกอยู่ที่เมืองลิสบอนซึ่งเป็นเมืองท่าขนาด
หญ่และเป็นเมืองหลวงของประเทศโปรตุเกส 
                คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เป็นทั้งนักเดินเรือและนักสำรวจทางทะเล เขาออกทะเลตั้งแต่อายุ 14 ปี 
พอมีอายุได้ 30 ปี เขาก็เป็นนักเดินเรือและผู้นำร่องที่เชี่ยวชาญมากคนหนึ่ง ด้วยวัยเพียง 13 ปีเขาก็คิดได้แล้ว
ว่า การเดินทางไปเอเชียได้โดยมุ่งหน้าไปทางตะวันตกมีความเป็นไปได้ เขาได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อน
ของบรูเนลเลสกีที่ชื่อ เปาโล ทอสคาเนลลี อายุรแพทย์และนักบันทึกลักษณะต่างๆ ของจักรวาล ซึ่งความรู้ของ
ทอสคาเนลลี อาจไม่ได้ยังประโยชน์อันใดต่อโคลัมบัส หากเขาไม่ได้ทำการค้นคว้าอย่างละเอียดถ้วนทั่วโดยตัวเอง
ทั้งในเรื่องของ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ จดหมายเหตุ ปรัชญา และศิลปะอื่นๆ 
                นอกจากนี้เขายังศึกษาบันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโลและเซอร์ จอห์น ที่เคยเดินทางไปประ
เทศจีน แต่เส้นทางบกสู่เมืองจีนที่อธิบายไว้โดยโปโลนั้น ทำให้การค้าช้าและแพงขึ้น เขาจึงได้ตัดสินใจที่
จะหาทางเลือกทางทะเลที่ทำให้ประหยัดเวลาขึ้นและราคาถูกลง จะว่าไปแล้วในยุคนั้นชาวยุโรปต้องการเดินทาง
ไปยังอินเดียและคาเธย์หรือจีนในปัจจุบัน เพราะดินแดนเหล่านี้เต็มไปด้วยสินค้าที่มีมูลค่าสูงอย่างเช่น เครื่องเทศ
ผ้า ไม้ และอัญมณี แต่การเดินทางในตอนนั้นเป็นการเดินทางทางบกจึงมีอุปสรรคมากมายประกอบกับต้องใช้ระยะ
เวลายาวนานทำให้มีนักสำรวจคิดที่จะเดินทางโดยเรือซึ่งต้องเดินเรืออ้อมผ่านทวีปแอฟริกาไป ด้วยเหตุนี้ในคริสต์
ศตวรรษที่ 15 ชาวโปรตุเกสซึ่งกำลังรุ่งเรืองด้านแสนยานุภาพทางทะเล จึงได้พยายามค้นหาเส้นทางเดินเรืออ้อม
ทวีปแอฟริกาไปยัง อินเดีย โดยมุ่งไปทางทิศตะวันออก แต่ครั้งแล้วครั้งเล่าก็ยังไม่มีใครทำสำเร็จในการเดิน
ทางอ้อม “แหลมแห่งพายุ” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “แหลมกู๊ดโฮป” ที่เต็มไปด้วยพายุปั่นป่วนที่อยู่ทาง
ด้านใต้ของทวีปแอฟริกา 
             โคลัมบัสมีความเชื่อตรงกันข้าม เขาเชื่อว่าโลกนั้นมีรูปร่างเป็นทรงกลม และสามารถเดินทางไป 
อินเดีย ได้โดยการเดินเรือไปทางทิศตะวันตก ซึ่งความเชื่อนี้เป็นที่ขัดแย้งกับแนวความเชื่อในยุคนั้นว่าโลก
นั้นมีรูปทรงแบน เขาวางแผนการเดินทางใหม่ขึ้นมาซึ่งต่างจากนักสำรวจคนอื่นโดยสิ้นเชิง เขาศึกษาการเดิน
เรือจากแหล่งความรู้ต่างๆ เท่าที่พอจะหาได้ เช่น จากคัมภีร์ไบเบิล วรรณกรรมโบราณ และหนังสือวิทยาศาสตร์
ซึ่งมีอยู่น้อยเล่ม หรือแม้กระทั่งบันทึกการเดินทางของมาร์โคโปโล พ่อค้าชาวเวนิสผู้เดินทางไปถึงทวีป
เอเชียได้สำเร็จและเล่าถึงเส้นทางสายไหม และพูดคุยกับกะลาสีเรือ ท้ายที่สุดเขาตัดสินใจว่าเขาสามารถ
ค้นพบเอเชียได้เร็วกว่าโดยการแล่นเรือไปทางทิศตะวันตกโดยการข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไป 
              หลังจากที่เขามั่นใจในแผนการเดินเรือครั้งนี้แล้ว ก็ได้เข้าพบกษัตริย์แห่งโปรตุเกสเพื่อขอให้เป็น
องค์อุปถัมภ์ ในเวลานั้นกษัตริย์แห่งโปรตุเกสคือพระเจ้าจอห์นที่ 2 ซึ่งใส่พระทัยรับฟังข้อเสนอแนะจากเหล่า
นักเดินเรือที่เข้ามาเสนอแผนการเดินเรือเป็นจำนวนมาก และทรงมีพระประสงค์ที่จะเผยแพร่ศาสนาคริสต์
ไปยังดินแดนที่ค้นพบใหม่ แต่หลังจากที่พระองค์และคณะราชสภาได้อ่านแผนการเดินเรือของโคลัมบัสแล้ว
 ก็ไม่มีใครเชื่อว่าแผนการเดินเรือเช่นนั้นของเขาจะเป็นไปได้ ในตอนนั้นโคลัมบัสรู้สึกเสียใจมาก ซ้ำร้ายภรรยา
ของเขาก็เสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน โคลัมบัสจึงได้นำดีเอโกบุตรชายวัย 5 ขวบของเขาเดินทางออกจากประเทศ
โปรตุเกสเพื่อไปพำนักกับญาติที่เมืองอัวล์บา เมืองท่าแห่งหนึ่งของประเทศสเปน และที่เมืองแห่งนี้โคลัมบัสได้
เสาะหาความรู้เพิ่มเติมใหม่ๆ ด้วยการศึกษางานด้านจักรวาลวิทยา เปรียบเทียบแผนที่ทางภูมิศาสตร์ฉบับต่างๆ
 และหาช่องทางการสนับสนุนแผนเดินทางของเขา เขาจึงเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าเฟอร์ดินานด์
แห่งอรากอน
และพระนางอิสซาเบลลาแห่งกัสตีญา ซึ่งปกครองประเทศสเปนร่วมกัน แต่ในตอนแรกก็ได้รับการปฏิเสธด้วยเหตุผล
เช่นเดียวกับพระเจ้าจอห์นที่ 2 แต่โคลัมบัสก็หาได้ละความพยายามไม่ เขาเพียรพยายามติดตามราชสำนักเพื่อ
ขอให้ดำเนินการตรวจสอบแผนการเดินทางของเขา และรอคอยคำตอบจากราชสำนัก ในเวลานั้นเขาก็ได้แต่งงาน
กับสตรีผู้มีนามว่าเบียทริซ เดอรานา และให้กำเนิดบุตรคนที่สองแก่เขา และตั้งชื่อบุตรคนนี้ว่าเฟอร์นานโด 
            โคลัมบัสไม่ลดละความพยายามที่จะขอให้พระเจ้าเฟอร์ดินานด์แห่งอรากอน และพระนางอิสซา
เบลลาแห่งกัสตีญาให้การสนับสนุนเขา จนในที่สุดแล้วก็ได้รับความช่วยเหลือพระเจ้าเฟอร์ดินันด์และพระนาง
อิสซาเบลลา ในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1492 โคลัมบัสบุตรชายช่างทอผ้าแห่งเมืองเจนัวก็ได้รับพระราชทาน
บรรดาศักดิ์เป็นขุนนางแห่งเมืองกัสตีญา และได้รับตำแหน่งนายพลเรือ ทั้งสองพระองค์ได้พระราชทานเรือ 3 ลำ
และลูกเรือพร้อม เรือลำที่มีดาดฟ้ามีชื่อว่า “มารีกาลองค์” โคลัมบัสได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “ซานตามาเรีย” เป็นเรือ
ขนาด 233 ตัน มีลำเรือยาว 39 เมตร ส่วนเรือเล็กอีกสองลำชื่อว่า นิญา และปินตา ซึ่งมีระวางขับน้ำประมาณ 50
 และ 60 ตันตามลำดับ 
               ลูกเรือในคณะของโคลัมบัสมีจำนวนไม่มาก เรือซานตามาเรียมีลูกเรือ 40 คน เรือปินตามี 26 คน
 เรือนิญามี 24 คน บางคนเป็นเพื่อนของโคลัมบัส แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวชนบทจากแคว้นอันดาลูเซีย
 บ้างก็เป็นนักโทษประหารที่ได้รับการอภัยโทษแลกกับการเดินทางเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในครั้งนี้ โคลัมบัส
เป็นกัปตันเรือซานตามาเรีย กัปตันเรือปินตาคือมาร์ติน อะลองโซปินซอน ซึ่งมีน้องชายอยู่ 2 คน คือ
 ฟรานซิสโก เป็นต้นหนเรือปินตา และวีเซนเต เป็นกัปตันเรือนิญา 
                 เรือทั้งสามลำออกจากท่าเล็กๆ ในเขตปาโลส เด ลา ฟรอนเตรา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของ
ประเทศสเปน เมื่อตอนพลบค่ำของวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1492 ซึ่งตรงกับช่วงสมัยของสมเด็จ
พระรามาธิบดีที่2 ในกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เรือทั้งสามลำพร้อมลูกเรือนับ 90 คน ประกอบไปด้วยลูกเรือ
และคนใกล้ชิดของโคลัมบัส รวมทั้งบุคคลในราชสำนัก อาทิตัวแทนของสมเด็จพระราชินี
 ผู้ควบคุมการเดินทาง นายสันติบาลเรือซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ติดอาวุธทำหน้าที่เหมือนตำรวจ คนทำหน้าที่เขียน
บันทึกการเดินทาง ล่ามประจำเรือ ฯลฯ นอกจากนี้ ขบวนเรือของโคลัมบัสยังขนชาวยิวไปด้วยอีกราว 30 คน
ซึ่งเป็นชาวยิวที่ฉวยโอกาสขึ้นเรือมาด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกไต่สวนทางศาสนา เพราะในช่วงนั้นกษัตริย์
สเปนบังคับให้ชาวยิวเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ การเดินทางในครั้งนั้นเขาและลูกเรือจะต้องประสบกับ
ความน่ากลัว เพราะคนในสมัยในยังเชื่อว่าใต้ท้องทะเลอันมืดมิดมีสัตว์ร้ายอาศัยอยู่ และพอโคลัมบัสออก
เดินเรือเขาเริ่มเขียนบันทึกการเดินทางเล่าว่าแม้จะเฝ้ารอคอยปานใดก็ไม่มีอสุรกายแห่งท้องทะเลโผล่มา
ให้เห็น โคลัมบัสมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยในการเดินเรือมากมาย แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือเข็มทิศและเครื่อง
วัดตำแหน่งท้องฟ้า นอกจากนี้เขายังรู้จักวิธีคำนวณระยะทางโดยดูจากตำแหน่งของดวงอาทิตย์และดวงดา
ต่างๆ อีกด้วย เขาเดินเรือตามเส้นทางที่คำนวณไว้ได้ค่อนข้างตรงทาง โดยอาศัยเครื่องวัดความสูงของ
ท้องฟ้าและเข็มทิศ ส่วนการวัดความเร็วใช้วิธีโยนเศษไม้ลงน้ำตรงใกล้หัวเรือแล้วจับเวลาโดยใช้นาฬิกาทราย
แล้วนำมาคำนวณ เวลาผ่านไป 3 อาทิตย์ ทุกคนอ่อนล้า สถานการณ์จึงตึงเครียด มีเค้าว่าลูกเรือจะลุกฮือขึ้น
หลายครั้ง แต่ในที่สุดประกายของความหวังก็มีให้เห็นเมื่อย่างเข้าสัปดาห์ที่ 4 เพราะลูกเรือเริ่มสังเกตุเห็นนก
ที่กำลังโฉบเหยื่อในทะเล และเห็นเศษไม้กิ่งไม้ลอยอยู่ตามกระแส 
             พอตกกลางคืนเมื่อเวลาตี 2 ของวันที่ 12 ตุลาคม ยามบนหอคอยเรือปินตาก็เห็นฝั่งทะเลอยู่ห่าง 10 กิโลเมตร 
เป็นเงาตะคุ่มอยู่ในแสงจันทร์ ลูกเรือโห่ร้องแสดงความยินดี ดินแดนแห่งนี้คือบาฮามาส และมีชาวพื้นเมือง
ที่มีผิวสีแดงอาศัยอยู่ เขาจึงเอาเรือเทียบฝั่งและขึ้นสำรวจประกาศเอาเป็นดินแดนเมืองขึ้นของสเปนเสีย 
โคลัมบัสขนานนามดินแดนแห่งนี้ว่า “ซานซัลวาดอร์” หลังจากนั้นเขาออกเดินเรืออีกครั้ง และใช้เวลาทั้งสิ้น 36 วัน
จึงได้พบแผ่นดินใหม่ และโคลัมบัสเชื่ออย่างสนิทใจว่าที่นี่คือหมู่เกาะที่มาร์โคโปโลเขียนถึงนั่นเอง 
              การพบเกาะครั้งนี้ ทำให้โคลัมบัสเชื่อว่าเขามาใกล้ประเทศจีนมากแล้ว เขาจึงออกเดินทางสำรวจจาก
เกาะหนึ่งไปยังอีกเกาะหนึ่งสืบต่อไปเพื่อหาทางไปสู่ประเทศจีนให้ได้ โดยโคลัมบัสคิดว่าตนเองพบเกาะที่อยู่ใกล้
ญี่ปุ่น จากนั้นเขาเดินเรือต่อไปจนถึงคิวบา จนได้พบผู้คนผิวคล้ำซึ่งเขาเรียกว่า “ชาวอินเดีย” เพราะคิดว่าตนเอง
ได้แล่นเรือมาถึงมหาสมุทรอินเดียแล้ว และเขาได้พบเห็นชาวพื้นเมืองนำใบไม้มามวนแล้วจุดไฟสูบ ซึ่งนั่นก็คือ
ใบยาสูบนั่นเอง พอดีกับเสบียงอาหารจวนหมด เขาจึงยกกองเรือกลับสเปนเสียก่อน 
              สามเดือนภายหลังจากที่ค้นพบโลกใหม่เขากลับไปที่สเปนและนำเอาตัวอย่างทองคำและทรัพย์
สมบัติอื่นๆและคนอินเดียพื้นเมือง 7 คน กลับไป โคลัมบัสได้รับการต้อนรับอย่างมีเกียรติ พระราชินีอิซาเบลลา
ประกาศถึงความสำเร็จนี้ว่า "มีความสำคัญ ยิ่งใหญ่เหลือคณา" และเชิญให้โคลัมบัสอยู่ในแถวหน้าสุดของ
คณะผู้ติดตามราชวงศ์ในงานราชพิธี และหลังจากนั้นเขาได้เดินทางกลับไปยังดินแดนใหม่ที่เขาพบอีก
สามครั้ง โดยที่ไม่มีครั้งใดเลยที่เขาจะฉุกใจคิดว่า ดินแดนนี้คืออเมริกาในปัจจุบัน เพราะเขาเชื่อโดยสมัคร
ใจว่าดินแดนที่เขาพบคือเอเชีย 
               โคลัมบัสเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ได้เห็นและสัมผัสเมล็ดโกโก้ เขาสังเกตุว่าชนพื้นเมืองเก็บเมล็ดโกโก้
ทุกเม็ดที่หล่นตามพื้นจนทำให้เขาคิดว่ามันมีค่ามาก แต่เมื่อเขานำมันกลับสเปนกลับไม่มีใครเห็นค่า จนกระทั่งอีก
 2 ทศวรรษต่อมา นายพลคอร์เทสเป็นผู้นำเมล็ดโกโก้ กลับไปถวายพระเจ้าชาร์ลสที่ 5 ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งสเปน
ในสมัยนั้น ก่อนที่โกโก้จะแพร่หลายไปในประเทศอื่น ๆ เช่น ทรินิแดด ไฮติ เกาะต่าง ๆ ทางแอฟริกาตะวันตก
และหมู่เกาะเวสต์อินดีส รวมไปถึงประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและศรีลังกาในเวลาต่อมา 
            การเดินทางครั้งสุดท้ายของโคลัมบัสสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1504 เมื่อเขาเดิน
ทางกลับมาถึงเมืองซานลูกา เด บาร์ราเมดา ด้วยร่างกายที่อ่อนล้าและนัยน์ตาใกล้บอด เขาเสียชีวิตใน
วันที่ 20 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1506 ที่เมืองบาญาโดลิด และถูกฝังที่อารามใกล้เซวิลล์ โดยทิ้งให้ดีเอโก
 บุตรชายคนโตสืบบรรดาศักดิ์ต่อจากเขา หลังการสิ้นชีวิตของเขา พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ได้ทรงสร้างรูปอนุสรณ์
เพื่อเป็นการรำลึกถึงเขา โดยจารึกคำอุทิศว่า 

“โคลัมบัส ผู้คนพบโลกใหม่ให้กับราชวงศ์กัสตีญาและเลออง” 

ต่อมาในปี ค.ศ. 1536 ศพของเขาถูกย้ายไปที่ฮิสปานิโอล่า และในปี ค.ศ. 1902 ถึงได้กลับมายังที่พักสุดท้าย
ในวิหารเซวิลล์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น