วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประวัติ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส



        

               คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เป็นนักเดินเรือชาวเจนัว ที่เป็นหนึ่งในนักสำรวจเพื่อหาโลกใหม่ในอดีต
สันนิษฐานกันว่าเขาเกิดเมื่อราว ค.ศ. 1451 เกิดและเติบโตที่เมืองเจนัว ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางการค้า
ของประเทศอิตาลีในเวลานั้น บิดาของเขามีชื่อว่าโดเมนิโก โคลัมโบ เป็นชนชั้นกลางทำอาชีพทอขนสัตว์
ที่เดินทางไปมาระหว่างเมืองเจนัวและซาโวนา ส่วนมารดามีชื่อว่าซูซานน่า ฟอนตานารอซโซ และโคลัมบัส
ยังมีพี่ชายที่ชื่อบาร์โธโลมิวอีกคนหนึ่งที่มีอาชีพเป็นนักทำแผนที่โลกอยู่ที่เมืองลิสบอนซึ่งเป็นเมืองท่าขนาด
หญ่และเป็นเมืองหลวงของประเทศโปรตุเกส 
                คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เป็นทั้งนักเดินเรือและนักสำรวจทางทะเล เขาออกทะเลตั้งแต่อายุ 14 ปี 
พอมีอายุได้ 30 ปี เขาก็เป็นนักเดินเรือและผู้นำร่องที่เชี่ยวชาญมากคนหนึ่ง ด้วยวัยเพียง 13 ปีเขาก็คิดได้แล้ว
ว่า การเดินทางไปเอเชียได้โดยมุ่งหน้าไปทางตะวันตกมีความเป็นไปได้ เขาได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อน
ของบรูเนลเลสกีที่ชื่อ เปาโล ทอสคาเนลลี อายุรแพทย์และนักบันทึกลักษณะต่างๆ ของจักรวาล ซึ่งความรู้ของ
ทอสคาเนลลี อาจไม่ได้ยังประโยชน์อันใดต่อโคลัมบัส หากเขาไม่ได้ทำการค้นคว้าอย่างละเอียดถ้วนทั่วโดยตัวเอง
ทั้งในเรื่องของ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ จดหมายเหตุ ปรัชญา และศิลปะอื่นๆ 
                นอกจากนี้เขายังศึกษาบันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโลและเซอร์ จอห์น ที่เคยเดินทางไปประ
เทศจีน แต่เส้นทางบกสู่เมืองจีนที่อธิบายไว้โดยโปโลนั้น ทำให้การค้าช้าและแพงขึ้น เขาจึงได้ตัดสินใจที่
จะหาทางเลือกทางทะเลที่ทำให้ประหยัดเวลาขึ้นและราคาถูกลง จะว่าไปแล้วในยุคนั้นชาวยุโรปต้องการเดินทาง
ไปยังอินเดียและคาเธย์หรือจีนในปัจจุบัน เพราะดินแดนเหล่านี้เต็มไปด้วยสินค้าที่มีมูลค่าสูงอย่างเช่น เครื่องเทศ
ผ้า ไม้ และอัญมณี แต่การเดินทางในตอนนั้นเป็นการเดินทางทางบกจึงมีอุปสรรคมากมายประกอบกับต้องใช้ระยะ
เวลายาวนานทำให้มีนักสำรวจคิดที่จะเดินทางโดยเรือซึ่งต้องเดินเรืออ้อมผ่านทวีปแอฟริกาไป ด้วยเหตุนี้ในคริสต์
ศตวรรษที่ 15 ชาวโปรตุเกสซึ่งกำลังรุ่งเรืองด้านแสนยานุภาพทางทะเล จึงได้พยายามค้นหาเส้นทางเดินเรืออ้อม
ทวีปแอฟริกาไปยัง อินเดีย โดยมุ่งไปทางทิศตะวันออก แต่ครั้งแล้วครั้งเล่าก็ยังไม่มีใครทำสำเร็จในการเดิน
ทางอ้อม “แหลมแห่งพายุ” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “แหลมกู๊ดโฮป” ที่เต็มไปด้วยพายุปั่นป่วนที่อยู่ทาง
ด้านใต้ของทวีปแอฟริกา 
             โคลัมบัสมีความเชื่อตรงกันข้าม เขาเชื่อว่าโลกนั้นมีรูปร่างเป็นทรงกลม และสามารถเดินทางไป 
อินเดีย ได้โดยการเดินเรือไปทางทิศตะวันตก ซึ่งความเชื่อนี้เป็นที่ขัดแย้งกับแนวความเชื่อในยุคนั้นว่าโลก
นั้นมีรูปทรงแบน เขาวางแผนการเดินทางใหม่ขึ้นมาซึ่งต่างจากนักสำรวจคนอื่นโดยสิ้นเชิง เขาศึกษาการเดิน
เรือจากแหล่งความรู้ต่างๆ เท่าที่พอจะหาได้ เช่น จากคัมภีร์ไบเบิล วรรณกรรมโบราณ และหนังสือวิทยาศาสตร์
ซึ่งมีอยู่น้อยเล่ม หรือแม้กระทั่งบันทึกการเดินทางของมาร์โคโปโล พ่อค้าชาวเวนิสผู้เดินทางไปถึงทวีป
เอเชียได้สำเร็จและเล่าถึงเส้นทางสายไหม และพูดคุยกับกะลาสีเรือ ท้ายที่สุดเขาตัดสินใจว่าเขาสามารถ
ค้นพบเอเชียได้เร็วกว่าโดยการแล่นเรือไปทางทิศตะวันตกโดยการข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไป 
              หลังจากที่เขามั่นใจในแผนการเดินเรือครั้งนี้แล้ว ก็ได้เข้าพบกษัตริย์แห่งโปรตุเกสเพื่อขอให้เป็น
องค์อุปถัมภ์ ในเวลานั้นกษัตริย์แห่งโปรตุเกสคือพระเจ้าจอห์นที่ 2 ซึ่งใส่พระทัยรับฟังข้อเสนอแนะจากเหล่า
นักเดินเรือที่เข้ามาเสนอแผนการเดินเรือเป็นจำนวนมาก และทรงมีพระประสงค์ที่จะเผยแพร่ศาสนาคริสต์
ไปยังดินแดนที่ค้นพบใหม่ แต่หลังจากที่พระองค์และคณะราชสภาได้อ่านแผนการเดินเรือของโคลัมบัสแล้ว
 ก็ไม่มีใครเชื่อว่าแผนการเดินเรือเช่นนั้นของเขาจะเป็นไปได้ ในตอนนั้นโคลัมบัสรู้สึกเสียใจมาก ซ้ำร้ายภรรยา
ของเขาก็เสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน โคลัมบัสจึงได้นำดีเอโกบุตรชายวัย 5 ขวบของเขาเดินทางออกจากประเทศ
โปรตุเกสเพื่อไปพำนักกับญาติที่เมืองอัวล์บา เมืองท่าแห่งหนึ่งของประเทศสเปน และที่เมืองแห่งนี้โคลัมบัสได้
เสาะหาความรู้เพิ่มเติมใหม่ๆ ด้วยการศึกษางานด้านจักรวาลวิทยา เปรียบเทียบแผนที่ทางภูมิศาสตร์ฉบับต่างๆ
 และหาช่องทางการสนับสนุนแผนเดินทางของเขา เขาจึงเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าเฟอร์ดินานด์
แห่งอรากอน
และพระนางอิสซาเบลลาแห่งกัสตีญา ซึ่งปกครองประเทศสเปนร่วมกัน แต่ในตอนแรกก็ได้รับการปฏิเสธด้วยเหตุผล
เช่นเดียวกับพระเจ้าจอห์นที่ 2 แต่โคลัมบัสก็หาได้ละความพยายามไม่ เขาเพียรพยายามติดตามราชสำนักเพื่อ
ขอให้ดำเนินการตรวจสอบแผนการเดินทางของเขา และรอคอยคำตอบจากราชสำนัก ในเวลานั้นเขาก็ได้แต่งงาน
กับสตรีผู้มีนามว่าเบียทริซ เดอรานา และให้กำเนิดบุตรคนที่สองแก่เขา และตั้งชื่อบุตรคนนี้ว่าเฟอร์นานโด 
            โคลัมบัสไม่ลดละความพยายามที่จะขอให้พระเจ้าเฟอร์ดินานด์แห่งอรากอน และพระนางอิสซา
เบลลาแห่งกัสตีญาให้การสนับสนุนเขา จนในที่สุดแล้วก็ได้รับความช่วยเหลือพระเจ้าเฟอร์ดินันด์และพระนาง
อิสซาเบลลา ในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1492 โคลัมบัสบุตรชายช่างทอผ้าแห่งเมืองเจนัวก็ได้รับพระราชทาน
บรรดาศักดิ์เป็นขุนนางแห่งเมืองกัสตีญา และได้รับตำแหน่งนายพลเรือ ทั้งสองพระองค์ได้พระราชทานเรือ 3 ลำ
และลูกเรือพร้อม เรือลำที่มีดาดฟ้ามีชื่อว่า “มารีกาลองค์” โคลัมบัสได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “ซานตามาเรีย” เป็นเรือ
ขนาด 233 ตัน มีลำเรือยาว 39 เมตร ส่วนเรือเล็กอีกสองลำชื่อว่า นิญา และปินตา ซึ่งมีระวางขับน้ำประมาณ 50
 และ 60 ตันตามลำดับ 
               ลูกเรือในคณะของโคลัมบัสมีจำนวนไม่มาก เรือซานตามาเรียมีลูกเรือ 40 คน เรือปินตามี 26 คน
 เรือนิญามี 24 คน บางคนเป็นเพื่อนของโคลัมบัส แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวชนบทจากแคว้นอันดาลูเซีย
 บ้างก็เป็นนักโทษประหารที่ได้รับการอภัยโทษแลกกับการเดินทางเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในครั้งนี้ โคลัมบัส
เป็นกัปตันเรือซานตามาเรีย กัปตันเรือปินตาคือมาร์ติน อะลองโซปินซอน ซึ่งมีน้องชายอยู่ 2 คน คือ
 ฟรานซิสโก เป็นต้นหนเรือปินตา และวีเซนเต เป็นกัปตันเรือนิญา 
                 เรือทั้งสามลำออกจากท่าเล็กๆ ในเขตปาโลส เด ลา ฟรอนเตรา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของ
ประเทศสเปน เมื่อตอนพลบค่ำของวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1492 ซึ่งตรงกับช่วงสมัยของสมเด็จ
พระรามาธิบดีที่2 ในกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เรือทั้งสามลำพร้อมลูกเรือนับ 90 คน ประกอบไปด้วยลูกเรือ
และคนใกล้ชิดของโคลัมบัส รวมทั้งบุคคลในราชสำนัก อาทิตัวแทนของสมเด็จพระราชินี
 ผู้ควบคุมการเดินทาง นายสันติบาลเรือซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ติดอาวุธทำหน้าที่เหมือนตำรวจ คนทำหน้าที่เขียน
บันทึกการเดินทาง ล่ามประจำเรือ ฯลฯ นอกจากนี้ ขบวนเรือของโคลัมบัสยังขนชาวยิวไปด้วยอีกราว 30 คน
ซึ่งเป็นชาวยิวที่ฉวยโอกาสขึ้นเรือมาด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกไต่สวนทางศาสนา เพราะในช่วงนั้นกษัตริย์
สเปนบังคับให้ชาวยิวเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ การเดินทางในครั้งนั้นเขาและลูกเรือจะต้องประสบกับ
ความน่ากลัว เพราะคนในสมัยในยังเชื่อว่าใต้ท้องทะเลอันมืดมิดมีสัตว์ร้ายอาศัยอยู่ และพอโคลัมบัสออก
เดินเรือเขาเริ่มเขียนบันทึกการเดินทางเล่าว่าแม้จะเฝ้ารอคอยปานใดก็ไม่มีอสุรกายแห่งท้องทะเลโผล่มา
ให้เห็น โคลัมบัสมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยในการเดินเรือมากมาย แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือเข็มทิศและเครื่อง
วัดตำแหน่งท้องฟ้า นอกจากนี้เขายังรู้จักวิธีคำนวณระยะทางโดยดูจากตำแหน่งของดวงอาทิตย์และดวงดา
ต่างๆ อีกด้วย เขาเดินเรือตามเส้นทางที่คำนวณไว้ได้ค่อนข้างตรงทาง โดยอาศัยเครื่องวัดความสูงของ
ท้องฟ้าและเข็มทิศ ส่วนการวัดความเร็วใช้วิธีโยนเศษไม้ลงน้ำตรงใกล้หัวเรือแล้วจับเวลาโดยใช้นาฬิกาทราย
แล้วนำมาคำนวณ เวลาผ่านไป 3 อาทิตย์ ทุกคนอ่อนล้า สถานการณ์จึงตึงเครียด มีเค้าว่าลูกเรือจะลุกฮือขึ้น
หลายครั้ง แต่ในที่สุดประกายของความหวังก็มีให้เห็นเมื่อย่างเข้าสัปดาห์ที่ 4 เพราะลูกเรือเริ่มสังเกตุเห็นนก
ที่กำลังโฉบเหยื่อในทะเล และเห็นเศษไม้กิ่งไม้ลอยอยู่ตามกระแส 
             พอตกกลางคืนเมื่อเวลาตี 2 ของวันที่ 12 ตุลาคม ยามบนหอคอยเรือปินตาก็เห็นฝั่งทะเลอยู่ห่าง 10 กิโลเมตร 
เป็นเงาตะคุ่มอยู่ในแสงจันทร์ ลูกเรือโห่ร้องแสดงความยินดี ดินแดนแห่งนี้คือบาฮามาส และมีชาวพื้นเมือง
ที่มีผิวสีแดงอาศัยอยู่ เขาจึงเอาเรือเทียบฝั่งและขึ้นสำรวจประกาศเอาเป็นดินแดนเมืองขึ้นของสเปนเสีย 
โคลัมบัสขนานนามดินแดนแห่งนี้ว่า “ซานซัลวาดอร์” หลังจากนั้นเขาออกเดินเรืออีกครั้ง และใช้เวลาทั้งสิ้น 36 วัน
จึงได้พบแผ่นดินใหม่ และโคลัมบัสเชื่ออย่างสนิทใจว่าที่นี่คือหมู่เกาะที่มาร์โคโปโลเขียนถึงนั่นเอง 
              การพบเกาะครั้งนี้ ทำให้โคลัมบัสเชื่อว่าเขามาใกล้ประเทศจีนมากแล้ว เขาจึงออกเดินทางสำรวจจาก
เกาะหนึ่งไปยังอีกเกาะหนึ่งสืบต่อไปเพื่อหาทางไปสู่ประเทศจีนให้ได้ โดยโคลัมบัสคิดว่าตนเองพบเกาะที่อยู่ใกล้
ญี่ปุ่น จากนั้นเขาเดินเรือต่อไปจนถึงคิวบา จนได้พบผู้คนผิวคล้ำซึ่งเขาเรียกว่า “ชาวอินเดีย” เพราะคิดว่าตนเอง
ได้แล่นเรือมาถึงมหาสมุทรอินเดียแล้ว และเขาได้พบเห็นชาวพื้นเมืองนำใบไม้มามวนแล้วจุดไฟสูบ ซึ่งนั่นก็คือ
ใบยาสูบนั่นเอง พอดีกับเสบียงอาหารจวนหมด เขาจึงยกกองเรือกลับสเปนเสียก่อน 
              สามเดือนภายหลังจากที่ค้นพบโลกใหม่เขากลับไปที่สเปนและนำเอาตัวอย่างทองคำและทรัพย์
สมบัติอื่นๆและคนอินเดียพื้นเมือง 7 คน กลับไป โคลัมบัสได้รับการต้อนรับอย่างมีเกียรติ พระราชินีอิซาเบลลา
ประกาศถึงความสำเร็จนี้ว่า "มีความสำคัญ ยิ่งใหญ่เหลือคณา" และเชิญให้โคลัมบัสอยู่ในแถวหน้าสุดของ
คณะผู้ติดตามราชวงศ์ในงานราชพิธี และหลังจากนั้นเขาได้เดินทางกลับไปยังดินแดนใหม่ที่เขาพบอีก
สามครั้ง โดยที่ไม่มีครั้งใดเลยที่เขาจะฉุกใจคิดว่า ดินแดนนี้คืออเมริกาในปัจจุบัน เพราะเขาเชื่อโดยสมัคร
ใจว่าดินแดนที่เขาพบคือเอเชีย 
               โคลัมบัสเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ได้เห็นและสัมผัสเมล็ดโกโก้ เขาสังเกตุว่าชนพื้นเมืองเก็บเมล็ดโกโก้
ทุกเม็ดที่หล่นตามพื้นจนทำให้เขาคิดว่ามันมีค่ามาก แต่เมื่อเขานำมันกลับสเปนกลับไม่มีใครเห็นค่า จนกระทั่งอีก
 2 ทศวรรษต่อมา นายพลคอร์เทสเป็นผู้นำเมล็ดโกโก้ กลับไปถวายพระเจ้าชาร์ลสที่ 5 ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งสเปน
ในสมัยนั้น ก่อนที่โกโก้จะแพร่หลายไปในประเทศอื่น ๆ เช่น ทรินิแดด ไฮติ เกาะต่าง ๆ ทางแอฟริกาตะวันตก
และหมู่เกาะเวสต์อินดีส รวมไปถึงประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและศรีลังกาในเวลาต่อมา 
            การเดินทางครั้งสุดท้ายของโคลัมบัสสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1504 เมื่อเขาเดิน
ทางกลับมาถึงเมืองซานลูกา เด บาร์ราเมดา ด้วยร่างกายที่อ่อนล้าและนัยน์ตาใกล้บอด เขาเสียชีวิตใน
วันที่ 20 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1506 ที่เมืองบาญาโดลิด และถูกฝังที่อารามใกล้เซวิลล์ โดยทิ้งให้ดีเอโก
 บุตรชายคนโตสืบบรรดาศักดิ์ต่อจากเขา หลังการสิ้นชีวิตของเขา พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ได้ทรงสร้างรูปอนุสรณ์
เพื่อเป็นการรำลึกถึงเขา โดยจารึกคำอุทิศว่า 

“โคลัมบัส ผู้คนพบโลกใหม่ให้กับราชวงศ์กัสตีญาและเลออง” 

ต่อมาในปี ค.ศ. 1536 ศพของเขาถูกย้ายไปที่ฮิสปานิโอล่า และในปี ค.ศ. 1902 ถึงได้กลับมายังที่พักสุดท้าย
ในวิหารเซวิลล์



วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์

     สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานใหญ่ และงานสำคัญอย่างยิ่งของบ้านเมือง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารประเทศหลายด้าน และทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างสูง ผลงานด้านต่าง ๆ ของพระองค์แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพอันสูง เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทุกยุคทุกสมัย ดังจะกล่าวถึงพระประวัติ และพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ดังนี้
พระประวัติ
พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย 

           สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๕๗ ในพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาชุ่ม ธิดาพระอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ) ต้นสกุล"โรจนดิศ" เป็นเจ้าจอมมารดา ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๐๕ พระบาท สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานพระนามและพระพร ประกอบด้วยคาถาเป็นภาษาบาลีซึ่งมีคำแปลดังต่อไปนี้
          " สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม ผู้บิดาตั้งนามกุมารบุตรที่เกิดแต่ชุ่มเล็กเป็นมารดานั้น และซึ่งคลอดในวัน ๗ ฯ๙ ๗ ปีจอจัตวาศกนั้น ว่าดังนี้ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร นาคนาม ขอจงเจริญชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล ทุกประการ สิ้นกาลนานต่อไป เทอญ
ตั้งนามมาวัน ๕ ฯ๕ ๙ ค่ำ ปีจอจัตวาศก เป็นปีที่ ๑๒ เป็นวันที่ ๖๐๙๖ ในรัชกาลปัจจุบันนี้"           พระองค์ทรงเริ่มเรียนหนังสือไทยชั้นต้นจากสำนักคุณแสงและคุรปาน ราชนิกุล ในพระบรมมหาราชวัง ทรงศึกษาภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลวง ซึ่งมีมิสเตอร์ ฟรานซิส ยอร์ช แพตเตอร์สัน เป็นพระอาจารย์
พ.ศ. ๒๔๑๘ เมื่อมีพระชนม์ได้ 13 พรรษา ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็น พระอุปัชฌาย์ และประทับจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๔๒๐ ได้ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรีทหารมหาดเล็ก บังคับกองแตรวง พระชนมายุได้ 15 ปี
พ.ศ. ๒๔๒๒ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยโท ผู้บังคับการทหารม้า ในกรมทหารมหาดเล็กและในปีเดียวกันนี้ได้รับพระราชทานยศเป็น นายร้อยเอก ราชองค์รักษ์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชนมายุได้ 17 ปี
พ.ศ. ๒๔๒๓ ได้รับพระราชทานยศเลื่อนเป็นนายพันตรี ผู้สนองพระบรมราชโองการ ว่าการกรมทหารมหาดเล็ก
พ.ศ. ๒๔๒๔ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปสังกัดกรมทหารปืนใหญ่ ซึ่งเรียกกันในสมัยนั้นว่า "กรมกองแก้วจินดา"
พ.ศ. ๒๔๒๕ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็ยพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นพระ อุปัชฌาย์ และประทับจำพรรษาที่วัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พ.ศ. ๒๔๒๘ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นผู้บังคับการทหารมหาดเล็ก และได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันโท
พ.ศ. ๒๕๒๙ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฎ และทรงประกาศแต่งตั้งให้ดำรงพระอิสริยยศ เป็น "กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ"
พ.ศ. ๒๔๓๐ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นผ้บัญชาการทหารบก
พ.ศ. ๒๔๓๑ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลตรี
พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากงานฝ่ายทหารไปปฏิบัติงานทางพลเรือน ทรงเป็นผู้กำกับ กรมธรรมการ
พ.ศ. ๒๔๓๓ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นอธิบดีกรม ศึกษาธิการ
พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๕๘ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย
พ.ศ. ๒๔๔๒โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น "กรมหลวงดำรงราชานุภาพ"
พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศ เป็น "กรมพระดำรงราชานุภาพ"
พ.ศ. ๒๔๕๘ ดำรงตำแหน่งนายกหอพระสมุดสำหรับ พระนคร
พ.ศ. ๒๔๖๖ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร และเป็นนายพลเอก
พ.ศ. ๒๔๖๘ ดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรี
พ.ศ. ๒๔๖๙ ดำรงตำแหน่งนายก ราชบัณฑิตยสภา
พ.ศ. ๒๔๗๒ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อน พระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ"
พ.ศ. ๒๔๘๖ สิ้นพระชนม์
           
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานใหญ่ และงานสำคัญอย่างยิ่ง ของบ้านเมือง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารประเทศหลายด้าน และทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างสูง ผลงานด้านต่าง ๆ ของพระองค์แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพอันสูง เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทุกยุคทุกสมัย
ด้านการศึกษา
    ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงปฏิบัติหน้าที่ทางการศึกษาอยู่ในช่วงระยะเวลาสั้นเพียงประมาณ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๓๓๓ - ๒๓๓๕) แต่พระองค์ ทรงมีพระดำริริเริ่มเป็นเยี่ยมในพระกรณียกิจด้านนี้หลายประการ กล่าวคือ

๑. ทรงเริ่มงานจัดการศึกษาเป็นครั้งแรก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนสภาพ "โรงเรียนทหารมหาดเล็ก" ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกสอนวิชาทหารให้แก่นายร้อย นายสิบ ในกรมทหารมหาดเล็ก มาเป็นโรงเรียนสำหรับพลเรือน มีชื่อเรียกว่า "โรงเรียนพระตำหนัก สวนกุหลาบ" และพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียน
๒. ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธรรมการ ได้ทรงจัดวางระเบียบการบริหารราชการของกรมและโรงเรียน กล่าวคือ ทรงวางระเบียบ ข้อบังคับตำแหน่งหน้าที่เสมียน พนักงาน ในการเข้ารับราชการ การเลื่อนตำแหน่ง ลาออก ลงโทษ ตลอดจนทรงกำหนดให้มีการตรวจสอบและ รายงานผลตรวจโรงเรียนทั้งในกรุงและหัวเมืองของพนักงานด้วย
๓. ทรงขยายการศึกษาโดยอาศัย "วัด" ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ และอบรมศีลธรรมให้แก่ราษฎรมาแต่โบราณ และ "วัดมหรรณพาราม" เป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรกที่ทรงจัดตั้งขึ้น การศึกษาลักษณะนี้ได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วกรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา และเมื่อทรงปรับปรุง หลักสูตรและวิธีการสอน ตลอดจนจัดพิมพ์ตำราเรียนเรียบร้อยแล้ว ได้ทรงขยายการศึกษาออกไปสู่ราษฎรตามหัวเมืองต่าง ๆ โดยทรงจัดตั้ง โรงเรียนหลวงขึ้นทั่วประเทศ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕
๔. ทรงริเริ่มจัดให้มีการตรวจสอบตำราเรียนและออกประกาศรับรอง ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ และความสามารถอย่างเหมาะสม และทรงกำหนด ให้มีการปรับปรุงหลักสูตรตำราเรียนขึ้นใหม่ คือ ตำราแบบเรียนเร็ว
๕. ทรงจัดตั้ง "โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนมหาดเล็ก" และเปลี่ยนเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ในเวลาต่อมา
๖. ทรงปรับปรุงและแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ของหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งเป็นหอสมุดแห่งเดียวในพระนคร เช่น ทรงกำหนดให้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการดำเนินงาน จัดงบประมาณสำหรับซื้อหนังสือ กำหนดระเบียบวิธีการยืม และการเป็นสมาชิก เป็นต้น 



ด้านมหาดไทย

 ซึ่งเป็นกิจการสำคัญยิ่งในการบริหารประเทศนั้น พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการก่อตั้งและปฏิรูปการจัดระเบียบปกครองภายในประเทศ และการบริหารราชการของกระทรวงมหาดไทยกล่าวคือ 
๑. ทรงจัดการบังคับบัญชางานภายในกระทรวง ให้มีรูปแบบเป็นระบบราชการชัดเจนขึ้น มีลำดับขั้นการบังคับบัญชา มีการแบ่งงานและเลือกสรร ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการ โดยการจัดสอบคัดเลือกตลอดจนออกระเบียบวินัยต่าง ๆ เช่น เลิกประเพณีให้ข้าราชการทำงานอยู่ที่บ้าน กำหนดให้มีการประชุมข้าราชการทุกวัน กำหนดเวลาการทำงาน ตลอดจนจัดระเบียบส่ง ร่าง เขียน และเก็บหนังสือราชการ เป็นต้น 
๒. ทรงจัดระบบการปกครองส่วนภูมิภาค ซึ่งเรียกว่า "ระบบเทศาภิบาล" ได้เป็นผลสำเร็จ และนับว่าเป็นผลงานสำคัญที่สุดของพระองค์ โดยทรง รวมหัวเมืองต่าง ๆ จัดเข้าเป็น "มณฑล" และมี "ข้าหลวงเทศาภิบาล" เป็นผู้บังคับบัญชา อยู่ในอำนาจของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยอีกชั้นหนึ่ง สำหรับการแบ่งเขตย่อยลงไปเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้ออก "พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่" บังคับใช้ทั่วพระราชอาณาจักร 
       พระราชกรณียกิจด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ทรงริเริ่มจัดตั้ง "การสุขาภิบาลหัวเมือง" ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ โดยเริ่มที่ ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เป็นแห่งแรก และนับเป็นการปูพื้นฐานการปกครองส่วนท้องถิ่น 
พระกรณียกิจด้านมหาดไทยทุกประการ จึงล้วนแต่เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน 
       นอกจากพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาและด้านมหาดไทยแล้ว พระองค์ยังทรงรับพระราชภาระจัดการและมีส่วนร่วมในการปรับปรุงกิจการด้านอื่น ๆ อีกหลายด้าน ได้แก่ ด้านการป่าไม้ ซึ่งทรงริเริ่มก่อตั้งกรมป่าไม้ขึ้นเพื่อให้หน่วยงานของรัฐได้เข้าไปควบคุมดูแลกิจการป่าไม้โดยตรง และทรงริเริ่ม ให้ดำเนินการออกพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง และกฎข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อเป็นผลประโยชน์ของกรมป่าไม้เป็นหลักสำคัญ และเป็นรากฐานในการ ปฏิบัติงานของกรมป่าไม้มาจนถึงปัจจุบัน ทรงริเริ่มการออกโฉนดที่ดิน
ด้านสาธารณสุข

ทรงรับภาระในการจัดการโรงเรียนแพทย์ต่อจาก พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ ทรงมีพระดำริริเริ่มให้มีโอสถศาลา สำหรับรับหน้าที่ผลิตยาแจกจ่ายให้ราษฎรในตำบลห่างไกล ซึ่ง ปัจจุบันคือ สถานีอนามัย และทรงจัดตั้งปาสตุรสภา สถานที่ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในปัจจุบันโอนไปอยู่ในสังกัดของสถานเสาวภา สภากาชาดไทย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงรับพระภารกิจด้านงานสรรพากร และงานอุตสาหกรรมโลหกิจ ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนางานมาจนถึงปัจจุบันด้วย 

ทรงต้อนรับเจ้านายฝ่ายในที่เสด็จเปิดตำหนักแดง
ด้านศิลปวัฒนธรรม

        ทรงริเริ่มและวางรากฐานการดำเนินงานของกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ และพระองค์ท่านก็ทรง อุทิศเวลา ทรงพระนิพนธ์หนังสือ ตำราต่าง ๆ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี อันเป็นมรดกทางปัญญาของชาวโลกมาจนกระทั่งทุกวันนี้







ขอขอบคุณ

http://www.matichon.co.th
http://www.moi.go.th




วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาเจษฏาบดินทร์ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาเจษฏาบดินทร์ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ด้านเศรษฐกิจ 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์สมบัตินั้นประเทศไทยตกอยู่ในภาวะยากจน เป็นอันมาก เนื่องจากเมื่อตันกรุงรัตนโกสินทร์ประเทศไทยได้ใช้เงินจำนวนมากมายมหาศาลเพื่อทำนุบำรุงบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ ประกอบด้วยกรุงศรีอยุธยาสูญเสียทรัพย์สินจากการพ่ายแพ้สงครามพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงตั้งระบบการจัดเก็บภาษีขึ้นมาหลายอย่างเพื่อหาเงินเข้าท้องพระคลังหลวง ในรัชกาลของพระ นั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัฐมีรายได้เข้าประเทศหลายอย่าง คือ จังกอบ อากรฤชา ส่วย ภาษี เงินค่าราชการจากพวกไพร่ เงินค่าผูกปี้ข้อมือจีน เป็นต้น รายได้ของรัฐมีเพิ่มมากขึ้นกว่ารัชกาลก่อนทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงและการปรับปรุงการเก็บภาษีอากรจากรูปของสินค้าและแรงงานเป็นชำระด้วยเงินตรา และที่สำคัญ คือ ภาษีที่ตั้งขึ้นมาใหม่ถึง 38 อย่าง 

การเก็บภาษีอากรภายในประเทศนี้ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งระบบการเก็บภาษีโดยให้เอกชนประมูลรับเหมาผู้ขาดไปเรียกเก็บภาษีจากราษฎรเอง เรียกว่า เจ้าภาษีหรือนายอากร ซึ่งส่วนใหญ่ชาวจีน จะเป็นผู้ประมูลได้ การเก็บภาษีด้วยวิธีการนี้ ทำให้เกิดผลดีหลายประการในด้านเศรษฐกิจ ทั้งสามารถเก็บเงินเข้า พระคลังมหาสมบัติได้สูงแล้ว ยังส่งผลดีทางด้านการเมืองอีกด้วย คือ ทำให้เจ้าภาษีนายอากรที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนนั้น มีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ และมีความผูกพันกับแผ่นดินไทยแนบแน่นขึ้น 

นอกจากนี้รายได้ของรัฐอีกส่วนหนึ่ง ยังได้มาจากการค้าขายกับชาวต่างประเทศได้ผลประโยชน์จาก ภาษีหลายชั้น คือ ภาษีเบิกร่อง ภาษีขาออก และการค้าแบบผูกขาดของพระคลัง นอกจากนี้ไทยยังส่งเรือสินค้าเข้าไปค้าขายในประเทศต่าง ๆ เนื่องจากพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยและเชี่ยวชาญการส่งเรือสินค้ามาตั้งแต่ครั้งดำรงพระยศเป็น พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จนสมเด็จพระชนกตรัสเรียกพระองค์ท่านว่า “เจ้าสัว” เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงทรงสนับสนุนการค้า ขึ้นอีก เป็นจำนวนมาก ทรงมีเรือกำปั่นพาณิชย์ประมาณ 11-13 ลำ เรือกำปั่นของขุนนางที่สำคัญอีก 6 ลำ 

รายได้จากการค้าสำเภานี้นับเป็นรายได้ที่สำคัญยิ่งอีกประเภทหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพมั่นคงและรัฐมีรายได้มากขึ้น รายได้นี้จึงได้นำมาใช้ในการทำนุบำรุงบ้านเมือง การป้องกันประเทศ การศาสนา และด้านอื่น ๆ ได้อย่างเต็มที่ ทั้งในรัชสมัยของพระองค์เองและในรัชสมัยต่อมา กล่าวคือ 

รายได้ของแผ่นดินในรัชกาลนี้ปรากฏว่าสูงขึ้นมาก บางปีมีจำนวนมากถึง 25 ล้านบาท เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต เงินในท้องพระคลังหลวงซึ่งหมายรวมถึงเงินค่าสำเภาด้วย เหลือจากการจับจ่ายของแผ่นดิน มี 40,000 ชั่ง และด้วยทรงมีพระราชหฤทัยห่วงใยในด้านการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ ก่อนที่จะเสด็จสวรรคต ทรงมีพระราชปรารภให้แบ่งเงินส่วนนี้ไปทำนุบำรุงรักษาวัดที่ชำรุดเสียหายและวัดที่สร้างค้างอยู่ 10,000 ชั่ง ส่วนที่เหลืออีก 30,000 ชั่ง โปรดให้รักษาไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการแผ่นดินต่อไป เงินจำนวนดังกล่าวนี้ กล่าวกันว่าโปรดให้ใส่ถุงแดงเอาไว้ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำมาใช้จ่ายเป็นค่าปรับในกรณีพิพาทระหว่างประเทศ เมื่อ ร.ศ. 112 (พ.ศ.2436) จะเห็นได้ว่า แม้สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเสด็จสวรรคตไปแล้ว พระองค์ยังมีส่วนช่วยเหลือประเทศให้รอดพ้นวิกฤตการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ก็ด้วยเงินถุงแดงที่พระองค์ทรงเก็บสะสมไว้ 

ด้านการปกครอง 
ลักษณะการปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงเป็นแบบอย่างที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยาและกรุงธนบุรี คือ การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของการปกรองประเทศ ทรงเป็นประมุขผู้พระราชทานความพิทักษ์รักษาบ้านเมืองให้ปลอดภัยตำแหน่งรองลงมา คือพระมหาอุปราช ซึ่งดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เช่นเดียวกับในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตำแหน่งบังคับบัญชาในด้านการปกครองแยกต่อมา คืออัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหาร คือ พระสมุหพระกลาโหม และฝ่ายพลเรือน คือ สมุหนายก ตำแหน่งรองลงมา เรียก เสนาบดีจตุสดมภ์ คือ เสนาบดีเมืองหรือเวียง กรมวัง กรมพระคลัง และกรมนา 

ส่วนการบริหารราชการแผ่นดิน ยังคงจัดแบ่งออกเป็นหัวเมืองชั้นนอก หัวเมืองชั้นใน และหัวเมืองประเทศราช ดังที่เคยปกครองกันมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการแบ่งการปกครองในลักษณะนี้ก่อให้เกิดปัญหาในการปกครองหัวเมืองประเทศราช เช่น ลาว เขมร และมลายู เพราะหัวเมืองเหล่านี้พยายามหาทางเป็นเอกราช หลุดจากอำนาจของอาณาจักรไทย 

ด้านการทำนุบำรุงประเทศ 
ในสมัยรัตนโกสินทร์ เน้นหลักไปในด้านการก่อสร้างบ้านเมือง ตลอดจนการขุดลอกคูคลอง สร้างป้อม สร้างเมือง ฯลฯ เพราะอยู่ในระยะการสร้างราชธานีใหม่ และพระมหากษัตริย์ในสามรัชกาลแรกทรงยึดถือนโยบายร่วมกันในอันที่จะสร้างบ้านเมืองให้ใหญ่โตสง่างามเทียบเท่ากับกรุงศรีอยุธยา นับตั้งแต่การสร้างพระบรมมหาราชวัง วัดวาอารามต่าง ๆ เป็นต้น 

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัตถุสถานต่าง ๆ ที่สร้างมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ทรุดโทรมลงเป็นอันมาก พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ อาทิ พระบรม มหาราชวัง และวัดวาอารามต่าง ๆ และยังทรงเป็นพระธุระในการขุดแต่งคลองเพิ่มเติม คือ คลองสุนัขหอน คลองบางขุนเทียน คลองพระโขนง และคลองแสนแสบ (คลองบางขนาก) 

ในรัชกาลนี้บ้านเมืองขยายตัวมีการตั้งเมืองใหญ่ ๆ ขึ้นมาก เช่น เรณูนคร อำนาจเจริญ อาจสามารถอากาศอำนวย หนองคาย เป็นต้น พระองค์ทรงประกาศว่า หัวเมืองทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรไทย และพระราชทานการทำนุบำรุงด้วยประการต่าง ๆ ให้มีความเจริญขึ้นทัดเทียมส่วนกลาง เป็นผลให้ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงยังคงเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรไทยตราบเท่าทุกวันนี้ 

ด้านการป้องกันประเทศ 
ในรัชสมัยของพระองค์แม้ว่าการสงครามทางด้านทิศตะวันตกระหว่างไทยกับพม่าจะเบาบางและสิ้นสุดในรัชกาลที่ 3 เพราะพม่ารบกับอังกฤษ แต่บ้านเมืองก็ไม่ได้ว่างเว้นจากศึกสงครามตลอดรัชกาต้องยกทัพไปสู้รบป้องกันพระราชอาณาเขตส่วนทางด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศเหนือและทิศใต้ 

ในรัชสมัยนี้มีเหตุการณ์ทำสงครามที่สำคัญ คือ เมื่อ พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฏ โปรดให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์เป็นแม่ทัพไปปราบปราม และยึดเมืองเวียงจันทน์ได้ในปี พ.ศ. 2370

พ.ศ. 2376-2391 การทำสงครามกับญวนที่พยายามชิงเขมรไปจากไทย 4 ครั้ง และญวนสามารถสู้รบกันในแผ่นดินเขมรส่วนนอก เป็นเวลานานถึง 15 ปี จนเลิกรบกัน ผลของสงครามทำให้ไทยได้เขมรมาอยู่ในปกครองอีก 

นอกจากนั้นทรงเตรียมรบอยู่พร้อมสรรพมีการสร้างป้อมป้องกันศัตรูทางน้ำ เช่น ที่ เมืองสมุทรสาคร เป็นต้น ในปลายรัชกาลโปรดให้สร้างเรือกำปั่นรบ กำปั่นลาดตระเวน ไว้รักษาพระนครและค้าขาย นอกจากนี้ยังทรงสร้างสมอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้เป็นอันมาก คลองต่าง ๆ ที่ขุดขึ้นในรัชสมัย นอกจากตั้งพระราชหฤทัยจะให้ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมแล้ว ยังใช้เป็นทางลัดไปมาระหว่างสงครามอีกด้วย 

ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ 
ราชอาณาจักรไทยมีการติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในทวีปเอเซียและยุโรปมานาน ทั้งด้านการทูตและด้านการค้า ชาติที่สำคัญในทวีปเอเซีย ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนชาติในทวีปยุโรป ได้แก่ อังกฤษ โปรตุเกส เป็นต้น ในสมัยรัชกาลที่ 1 ไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับจีน ญวน เขมร ลาวและมลายู แต่มีประเทศโปรตุเกสเป็นชาติเดียวในยุโรปที่เข้ามาติดต่อในสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมามีชาวยุโรปอื่นเข้ามาเจรจาเปิดสัมพันธไมตรี คือ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา 

ในบรรดาประเทศต่าง ๆ ในเอเซียนั้น ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยทั้งทางด้านการทูตและการค้า ในรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยจัดส่งราชทูตอัญเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศจีน ใน พ.ศ. 2368 และการค้าระหว่างไทยกับจีนก็ดำเนินไปได้ด้วยดีตลอดรัชสมัย 

ในขณะนั้นประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาติดต่อเจริญสัมพันธไมตรี และตกลงทำสัญญาการค้า ซึ่งเจรจาตกลงเรื่องการค้าไม่ประสบผลสำเร็จนัก ด้วยในตอนต้นทรงมีนโยบายไม่ยอมอ่อนข้อให้กับประเทศตะวันตกด้วยระมัดระวังในเกียรติของชาติ รวมถึงประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญการทำสัญญาการค้าในประเภทที่ไทยจะต้องเสียเปรียบก็ไม่ทรงยินยอม ทรงพยายามที่จะรักษาประโยชน์ของชาติให้มากที่สุด ที่ทรงกระทำเช่นนั้นไม่ใช่ว่าจะไม่ทรงตระหนักถึงภัยจากการรุกรานของมหาอำนาจตะวันตกที่มีต่อประเทศใกล้เคียง ทรงเข้าพระทัยดี จึงได้พระราชทานกระแสเกี่ยวกับการต่างประเทศไว้ในอนาคตก่อนหน้าที่จะเสด็จสวรรคตว่า “การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีก็อยู่แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียท่าแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสกันทีเดียว” อย่างไรก็ดีการติดต่อกับชาวตะวันตกเช่น มิชชันนารีอเมริกัน ซึ่งเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสตนิกายโปรเตสแตนท์ ได้นำวิทยาการสมัยใหม่ทั้งทางการแพทย์ การทหาร การช่าง ดาราศาสตร์เข้ามาเผยแพร่ ทำให้ชาวไทยได้เรียนรู้วิทยาการที่ก้าวหน้าและทันสมัยนั้น ก็ทรงเห็นชอบและทรงสนับสนุนอยู่ไม่น้อย 

ด้านการศึกษา 
การศึกษาของไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดมีบทบาทเป็นสถาบันทางการศึกษาตามอย่างที่เป็นมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา การศึกษาที่วัดส่วนใหญ่ยังเป็นไปในลักษณะเดิม และเป็นการเรียนแบบสามัญศึกษา มีพระสงฆ์เป็นครูผู้สอนหนังสือ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนการเล่าเรียนเขียนอ่านสำหรับเด็ก เนื่องจากแบบเรียนเดิมนั้นยากไปสำหรับเด็ก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงศาธิราช แต่งตำราเรียนภาษาไทยขึ้นมาใหม่ ในชื่อเก่า คือ หนังสือจินดามณี 

นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้มีความรู้นำตำราต่าง ๆ จารึกลงบนศิลา ประดับไว้ตามฝาผนังอาคารต่าง ๆ ของ วัดราชโอรสาราม วัดสุทัศน์เทพวราราม โดยเฉพาะที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม อันเป็นวัดที่สำคัญที่ทรงโปรดให้บูรณะในรัชกาลของพระองค์ ความรู้และตำราต่าง ๆ ที่โปรดให้จารึกไว้นั้นมีทั้งวิชาอักษรศาสตร์ แพทยศาสตร์ พุทธศาสตร์ และโบราณคดี เช่น ตำราโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ตำรายา ตำราโหราศาสตร์ พร้อมกันนั้นก็ทรงโปรดให้ปั้นรูปฤาษีดัดตนแสดงท่าบำบัดโรคลม กับคำโคลงบอกชนิดของลม ตั้งไว้ในศาลารายรอบเขตพุทธาวาสทำให้ประชาชนสามารถศึกษาหาความรู้ในด้านต่าง ๆ ได้อย่างแพร่หลาย จนคนไทยทั้งหลายในยุคนั้นกล่าวว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของเมืองไทย 

ด้านพระพุทธศาสนา 
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกตามพระราชประเพณีแต่ ทรงมีพระราชศรัทธาแก่กล้าในบวรพุทธศาสนา พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์พระศาสนา ตลอดรัชสมัย ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล สดับพระธรรมเทศนาและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นเนืองนิจ ทรงพระเมตตาให้ทานแก่ยาจกและวณิพกอยู่เสมอโปรดให้สร้างเก๋งโรงทานสำหรับแจกทานแก่บุคคลทั่วไป 

พระองค์บำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านศาสนาที่สำคัญ คือ 

1. ทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเป็นจำนวนมาก ทั้งในเมืองหลวงและหัวเมืองวัดที่ทรงสร้างใหม่ 3 วัด บูรณะปฏิสังขรณ์อีกถึง 35 วัด วัดที่ทรงสร้างคือ วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดเทพธิดาราม วัดราชนัดดาราม ส่วนวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนฯ วัดสุทัศน์เทพวราราม ก็ทรงปฏิสังขรณ์เสริมสร้างดุจดังว่าสร้างขึ้นมาใหม่ 

นอกจากนี้ยังทรงสร้างพระธาตุเจดีย์ คือ พระปรางค์และพระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระปราค์วัดอรุณราชวราราม พระเจดีย์ 2 องค์ ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ส่วนอุทเทสิกเจดีย์ เช่น พระพุทธรูปก็ทรงสร้างไว้มากมาย

2. ทรงสร้างพระไตรปิฏกไว้ไม่น้อยกว่า 7 ฉบับ คือ ฉบับรดน้ำเอก ฉบับรดน้ำโท ฉบับทองน้อย ฉบับชุบย่อ ฉบับอักษรรามัญ ฉบับเทพชุมนุม และฉบับลายกำมะลอ เป็นต้น 

3. ทรงบำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม เพื่อสางเสริมความรู้ของพระภิกษุ จนการศึกษาพระปริยัติธรรมในพระพุทธศาสนาแพร่หลายรุ่งเรืองเป็น อย่างยิ่ง 

ด้านศิลปวัฒนธรรม 
ศิลปกรรม 
การทำนุบำรุงศิลปกรรมในรัชสมัยนี้แบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ ศิลปกรรมที่สร้างขึ้นมาใหม่ และศิลปะแบบพระราชนิยม โดยศิลปกรรมที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้ เฉพาะด้านสถาปัตยกรรม เป็นศิลปะที่ผสมผสานระหว่างศิลปะไทย จีน และตะวันตก ด้วยติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศทำให้อิทธิพลทางด้านศิลปะเข้ามาผสมผสาน ส่วนศิลปะแบบพระราชนิยม เป็นศิลปกรรมไทยที่มีลักษณะโดดเด่นมากเป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์อย่างแท้จริง ซึ่งยังหลงเหลือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมาจนทุกวันนี้ ก่อนที่ศิลปะทางตะวันตกจะเข้ามาอิทธิพลในงานศิลปะไทยในยุคต่อมา 

วรรณคดี 
ทรงเป็นกวีที่สามารถพระองค์หนึ่ง ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมหลายเรื่อง คือ โคลงปราบดาภิเษกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บทละครเรื่องสังข์ศิลป์ชัย เพลงยาวสังวาส และบทเสภาบางตอนในเรื่องขุนช้างขุนแผน เมื่อทรงครองราชย์ทรงมี พระราชกรณียกิจมากมาย ทำให้ไม่มีเวลาในการพระราชนิพนธ์วรรณกรรมด้วยพระองค์เอง แต่ถึงกระนั้นก็ทรงทำนุบำรุงวรรณกรรมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาในรัชสมัยนี้ยังมีกวีที่สำคัญๆ เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และสุนทรภู่ ซึ่งมีชื่อเสียงมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2 แล้ว วรรณคดีที่แต่งขึ้นมาในรัชสมัยนี้ ได้แก่ ลิลิตตะเลงพ่าย ปฐมสมโพธิ์กถา กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ระเด่นลันได โคลงสุภาษิตโลกนิติ เป็นต้น 

พระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศอย่างเอนกอนันต์ ด้วยเมื่อทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากประเทศมหาอำนาจตะวันตก ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จนฐานะของประเทศดีขึ้นอย่างมาก ทรงติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ทำให้มีรายได้เข้าประเทศอย่างมาก ทำให้มีเงินในการปฏิสังขรณ์อารามต่าง ๆ ในส่วนการป้องกันประเทศ ทรงทุ่มเทพระวรกายปกป้องอิทธิพลที่เข้ามารุกรานประเทศทรงขึ้นครองราชสมบัติ ทรงได้ประกอบพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ นำความเจริญมาสู่ประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง


พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดเชิงท่า อยุธยา

 

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ ปีขาล ฉศก จุลศักราช 1096 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา มีพระนามเดิมว่า สิน พระราชบิดาเป็นชาวจีนชื่อนายไหฮอง หรือ หยง แซ่แต้ เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์ พระราชชนนีชื่อนางนกเอี้ยง (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระเทพามาตย์) ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับจวนเจ้าพระยาจักรีที่สมุหนายก

เมื่อยังทรงพระเยาว์เจ้าพระยาจักรีได้ขอสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปเลี้ยงเป็น บุตรบุญธรรม และได้ตั้งชื่อพระองค์ท่านว่า สิน พอนายสินอายุได้ 9 ขวบ เจ้าพระยาจักรีก็นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส ครั้นอายุได้ 13 ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำนายสินเข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวบรมโกศ ตามประเพณีของการรับราชการในสมัยนั้น

ในระหว่างรับราชการเป็นมหาดเล็กนายสินได้พยายามศึกษาหาความรู้ทางด้านภาษาต่าง ประเทศหลายภาษา มีภาษาจีน ภาษาญวน และภาษาแขก จนสามารถพูดได้สามภาษาอย่างชำนิชำนาญ
ครั้นนายสินอายุได้ 21 ปี เจ้าพระยาจักรีได้ประกอบการอุปสมบทนายสินเป็นพระภิกษุสงฆ์อยู่ในสำนัก อาจารย์ทองดี ณ วัดโกษาวาส ( ปัจจุบันคือวัดเชิงท่า )
นายสินอุปสมบทอยู่ 3 พรรษา แล้วก็ลาสิกขาบทกลับมาเข้ารับราชการตามเดิม เนื่องจากนายสินเป็นผู้ฉลาดรอบรู้ขนบธรรมเนียมราชกิจต่าง ๆ โดยมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายสินเป็นมหาดเล็กรายงาน ด้วยราชการทั้งหลายในกรมมหาดไทย และกรมวังศาลหลวง

พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรเสด็จเสวยราชสมบัติได้ 3 เดือนเศษ ก็ถวายสิริราชสมบัติแก่สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงานเป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปชำระความหัว เมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งนายสินได้ปฏิบัติราชการด้วยความวิริยะอุตสาหะและมีความดีความชอบมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ช่วยราชการอยู่กับพระยาตาก ครั้นเมื่อพระยาตากถึงแก่กรรมลงก็ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนหลวงยกกระบัตร (สิน) เป็นพระยาตาก ปกครองเมืองตากแทน


พ.ศ. 2308 พระยาตาก (สิน) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เข้ามาช่วยราชการสงครามเพื่อป้องกันพม่าในกรุงศรีอยุธยา พระยาตาก (สิน) มีฝีมือการรบป้องกันพระนครอย่างเข้มแข็งมีความดีความชอบมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น พระยาวชิรปราการ (สิน) สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองเดิมที่ถึงแก่กรรม


พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในเดือนเมษายน พระยาตากก็สามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนได้ แล้วก็คิดจะปฏิสังขรณ์กรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีใหม่ แต่เมื่อได้ตรวจความเสียหายแล้วเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาได้รับความเสียหายเป็น อันมากยากที่จะบูรณะให้เหมือนดังเดิมได้ และประกอบกับรี้พลของเจ้าตากมีไม่พอที่จะรักษากรุงศรีอยุธยาที่เป็นเมือง ใหญ่ได้ จึงเลือกเมืองธนบุรีเป็นราชธานี และได้อพยพผู้คนลงมาตั้งมั่นที่เมืองธนบุรี

เจ้า ตากทรงทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองกรุงธนบุรี เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม 4 ค่ำ จุลศักราช 1130 ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ 28 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2311 ขณะมีพระชนมายุได้ 34 พรรษา ทรงนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่ประชาชนทั่วไปยังนิยมขนานพระนามพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดากับสมเด็จพระอัครมเหษี กรมหลวงบาทบริจา และกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ รวมทั้งพระสนมต่าง ๆ รวมทั้งสิน 29 พระองค์

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จสวรรคต เมื่อวันเสาร์ เดือน 5 แรม 9 ค่ำ จ.ศ. 1144 ปีขาล ตรงกับวันที่ 6 เมษายน 2325 พระชนมายุ 48 พรรษา รวมสิริราชสมบัติ 15 ปี

 
พระราชกรณียกิจ
 
ด้านการปกครอง ยังคงใช้ระบบการปกครองแบบกรุงศรีอยุธยา ส่วนด้านกฎหมาย เมื่อครั้งกรุงแตก กฎหมายบ้านเมืองกระจัดกระจายหายสูญไปมาก จึงโปรดให้ทำการสืบเสาะค้นหามารวบรวมไว้ได้ประมาณ 1 ใน 10 และโปรดให้ชำระกฎหมายเหล่านั้น ฉบับใดยังเหมาะแก่กาลสมัยก็โปรดให้คงไว้ และเป็นการแก้ไขเพื่อให้ราษฎรได้รับผลประโยชน์มากขึ้น เช่น โปรดให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการพนัน ให้อำนาจการตัดสินลงโทษขึ้นแก่ศาลแทนนายตราสิทธิขาด และยังห้ามนายตรา นายบ่อนออกเงินทดรองให้ผู้เล่น เกาะกุม ผูกมัด จำจอง เร่งรัดผู้เล่น กฎหมายพิกัดภาษีอากรเกือบไม่มี เพราะผลประโยชน์แผ่นดินได้จากการค้าสำเภามากพอแล้ว กฎหมายว่าด้วยการจุกช่องล้อมวง ก็ยังไม่ตราขึ้น เปิดโอกาสให้ราษฎรได้เฝ้าตามรายทาง โดยไม่ต้องมีพนักงานตำรวจแม่นปืนคอยยิงราษฎร ซึ่งแม้แต่ชาวต่างประเทศก็ยังชื่นชมในพระราชอัธยาศัยนี้
ใน ชั้นศาล ก็ไม่โปรดให้อรรถคดีคั่งค้าง แม้ยามศึก หากคู่ความไม่ได้เข้ากองทัพหรือประจำราชการต่างเมือง ก็โปรดให้ดำเนินการพิจารณาคดีไปตามปกติ ทั้งในการฟ้องร้อง ยังโปรดให้โจทย์หาหมอความแต่งฟ้องได้เช่นเดียวกับปัจจุบันอีกด้วย วิธีพิจารณาคดีในสมัยนั้นสะท้อนให้เห็นได้แจ่มชัด ในบทละครรามเกียรติ์ตอนท้าวมาลีวราชพิพากษาความ พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี
ด้านการทหาร ทรงรวบรวมคนไทยที่แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า 5 ก๊ก และปราบปรามก๊กต่าง ๆ ทำสงครามกับพม่า ขยายพระราชอาณาเขตไปยังหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และกัมพูชา

ด้านเศรษฐกิจ เนื่องในสมัยกรุงธนบุรี เป็นระยะเวลาที่สร้างบ้านเมืองกันใหม่ การค้าเจริญรุ่งเรืองทั้งของหลวงและของราษฎร สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทำนุบำรุงการค้าขายทางเรืออย่างเต็มที่ ทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปค้าขายทางด้านตะวันออกไปถึงเมืองจีน ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือถึงอินเดียตอนใต้ ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการค้าของหลวงช่วยบรรเทาภาระภาษีของราษฎรไปได้มาก
สมเด็จ พระเจ้าตากสิน ฯ ทรงส่งเสริมการนำสินค้าพื้นเมืองไปขายทางเรือ ซึ่งอำนวยผลประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่องานสร้างชาติ ทำให้ราษฎรมีงานทำ มีรายได้ ทั้งยังฝึกให้คนไทยเชี่ยวชาญการค้าขาย ป้องกันมิให้การค้าตกไปอยู่ในมือต่างชาติ

ด้านการคมนาคม ใน ยามว่างจากศึกสงคราม จะโปรดให้ตัดถนนและขุดคลองมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในทางค้าขาย ทรงยกเลิกความคิดแนวเก่าที่ว่าหากถนนหนทาง การคมนาคมมีมากแล้ว จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ข้าศึกศัตรู และพวกก่อการจลาจล แต่กลับทรงเห็นประโยชน์ในทางค้าขายมากกว่า ดังนั้นในฤดูหนาวหากว่างจากศึกสงคราม ก็จะโปรดให้ตัดถนน และขุดคลอง จะเห็นได้จากแนวถนนเก่า ๆ ในเขตธนบุรี ซึ่งมีอยู่มากสาย ส่วนการขุดชำระคลองมักมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ เช่น คลองท่าขามจากนครศรีธรรมราชไปออกทะเล เป็นต้น

ด้านศิลปกรรม ใน สมัยนี้ แม้สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีจะมีการงานศึกสงครามแทบจะมิได้ว่างเว้นก็ ตาม แต่ก็ทรงหาโอกาสฟื้นฟู และบำรุงศิลปกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านนาฏดุริยางค์ และวรรณกรรม ด้านนาฏดุริยางค์โปรดให้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างบรรยากาศที่รื่นเริงครึกครื้นเหมือนครั้งกรุงเก่านับเป็นวิธี บำรุงขวัญที่ใกล้ตัวราษฎรที่สุด พระราชทานโอกาสให้ประชาชนทั่วไป เปิดการสอนและออกโรงเล่นได้โดยอิสระ เครื่องแต่งกายไม่ว่าจะเป็นเครื่องต้นเครื่องทรงก็แต่งกันได้ตามลักษณะ เรื่อง แม้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเองก็คงจะทรงสนพระทัยในกิจการด้านนี้มิใช่น้อย ด้วยมักจะโปรดให้มีละครและการละเล่นอย่างมโหฬารในงานสมโภชอยู่เนือง ๆ

    สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ทรงพระราชนิพนธ์บทละครรามเกียรติ์ไว้ 4 เล่ม สมุดไทยแบ่งเป็นตอนไว้ 4 ตอน คือ
  •     เล่ม 1 ตอนพระมงกุฎ
  •     เล่ม 2 ตอนหนุมานเกี้ยววานรินจนท้าวมาลีวราชมา
  •     เล่ม 3 ตอนท้าวมาลีวราชพิพากษา จนทศกรรฐ์เข้าเมือง
  •     เล่ม 4 ตอนทศกรรฐ์ตั้งพิธีทรายกรด, พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัสตร์ จนผูกผมทศกรรฐ์กับนางมณโฑ

การที่พระมหากษัตริย์ทรงใฝ่พระทัยในกวีนิพนธ์ถึงกับพระราชนิพนธ์ทั้ง ๆ ที่แทบจะมิได้ว่างเว้นจากราชการทัพเช่นนี้ เท่ากับเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่มีความสามารถทางกวีนิพนธ์ในยุคนั้นสร้าง สรรค์งานขึ้นมาได้บ้าง แม้เหตุการณ์ของบ้านเมืองจะยังมิได้คืนสู่สภาพปกติสุขดีนัก และสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ก็ทรงให้ความอุปถัมภ์กวีในราชสำนักเป็นอย่างดี
ด้านการช่าง โปรดให้รวบรวมช่างฝีมือ และให้ฝึกงานช่างทุกแผนกเท่าที่มีครูสอน เช่น ช่างต่อเรือ ช่างก่อสร้าง ช่างรัก ช่างประดับ ช่างเขียน เป็นต้น สำหรับงานช่างต่อเรือได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะเป็นยุคที่มีการต่อเรือรบ และเรือสำเภาค้าขายเป็นจำนวนมากมาย ช่างสมัยกรุงธนบุรีนี้อาจจะไม่มีเวลาทันสร้างผลงานดีเด่นเฉพาะสมัย แต่ก็ได้เป็นผู้สืบทอดศิลปกรรมแบบอยุธยาไปสู่แบบรัตนโกสินทร์
ด้านการศึกษา ในสมัยนั้นวัดเป็นแหล่งที่ให้การศึกษา จึงโปรดให้บำรุงการศึกษาตามวัดต่างๆ และโปรดให้ตั้งหอหนังสือหลวงขึ้นเช่นเดียวกันกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งคงจะเทียบได้กับหอพระสมุดในระยะหลัง ส่วนตำรับตำราที่กระจัดกระจายไปเมื่อคราวกรุงแตก ก็โปรดให้สืบเสาะหามาจำลองไว้เป็นแบบฉบับ สำหรับผู้สนใจอาศัยคัดลอกกันต่อ ๆ ไป และที่แต่งใหม่ก็มี

ด้านการศาสนา โปรด ให้ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ ที่รกร้างปรักหักพังตั้งแต่ครั้งพม่าเข้าเผาผลาญทำลายและกวาดต้อนทรัพย์สิน ไปพม่า แล้วโปรดให้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์เข้าจำวัดต่าง ๆ ส่วนพระไตรปิฎกยังเหลือตกค้างอยู่ที่ใด ก็โปรดให้คัดลอกสร้างเป็นฉบับหลวง แล้วส่งคืนกลับไปที่เดิม
เรื่องสังฆมณฑล โปรดให้ดำเนินตามธรรมเนียมการปกครองคณะสงฆ์ที่มีมาแต่ก่อน โดยแยกเป็นฝ่ายคันถธุระและฝ่ายวิปัสสนาธุระ
ฝ่ายคันถธุระดำเนินการศึกษาพระปริยัติธรรมให้เจริญ ส่งเสริมการสอนภาษาบาลี เพื่อช่วยการอ่านพระไตรปิฎก
ฝ่ายวิปัสนาธุระ โปรดให้กวดขันการปฏิบัติพระธรรมวินัยเป็นขั้น ๆ ไปตามภูมิปฏิบัติ
ส่วน ลัทธิอื่น ๆ ในชั้นต้นสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี พระราชทานเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ต่อมาข้าหลวงที่เข้ารีต ได้พยายามห้ามปรามชาวไทยปฏิบัติพิธีการทางศาสนา เช่น พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ความขัดแย้งมีมากขึ้นเรื่อย ถึงกับจับพวกบาทหลวงกุมขังก็มี ในที่สุดพระองค์จำต้องขอให้บาทหลวงไปจากพระราชอาณาเขต แล้วห้ามชาวไทยนับถือศาสนาคริสต์ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2322

ด้านการศึกสงคราม ขณะ ที่พระยาตากได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นพระยาวชิรปราการ (สิน) สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองเดิมที่ถึงแก่กรรม แต่ก็ยังมิได้ไปครองเมืองกำแพงเพชร เพราะต้องต่อสู้กับข้าศึกในการป้องกันพระนคร

เมื่อพระยาวชิรปราการ (สิน) เล็งเห็นว่าถึงแม้จะอยู่ช่วยรักษาพระนครต่อไป ก็คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด พม่าก็ตั้งล้อมพระนครกระชั้นเข้ามาทุกขณะจนถึงคูพระนครแล้ว กรุงศรีอยุธยาคงไม่พ้นเงื้อมมือพม่าเป็นแน่แท้ ไพร่ฟ้าข้าทหารในพระนครก็อิดโรยลงมาก เนื่องจากขัดสนเสบียงอาหาร ทหารไม่มีกำลังใจจะสู้รบ ดังนั้นพระยาวชิรปราการ (สิน) จึงตัดสินใจร่วมกับพระยาพิชัยอาสา พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี และพรรคพวก รวม 500 คน ยกกำลังออกจากค่ายวัดพิชัย ตีฝ่าพม่าไปทางทิศตะวันออก เวลาค่ำในวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 4 ค่ำ ปีจอ พ.ศ. 2309 ตรงกับวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2309
ทัพ พม่าได้ส่งทหารไล่ติดตามพระยาวชิรปราการ (สิน) และพรรคพวกมาทันกันในวันรุ่งขึ้นที่ บ้านโพธิ์สังหาร พระยาวชิรปราการ (สิน) ได้นำพลทหารไทยจีนเข้ารบกับทหารพม่าเป็นสามารถจนทหารพม่าแตกพ่ายไป และยังได้ยึดเครื่องศาสตราวุธอีกเป็นจำนวนมาก แล้วออกเดินทางไปตั้งพักที่บ้านพรานนก เพื่อหาเสบียงอาหาร ระหว่างที่ทหารพระยาวชิรปราการ (สิน) หาเสบียงอาหารอยู่นั้น ได้พบทัพพม่าจำนวนพลขี่ม้าประมาณ 30 ม้า พลเดินเท้าประมาณ 2,000 คน ยกทัพมาจากบางคาง แขวงเมืองปราจีนบุรี เพื่อเข้ารวมพลเข้าตีกรุงศรีอยุธยาในโอกาสต่อไป ทหารพระยาวชิรปราการ (สิน) จึงหนีกลับมาที่บ้านพรานนก โดยมีทหารพม่าไล่ติดตามมาอย่างกระชั้นชิดและชะล่าใจ พระยาวชิรปราการ (สิน) จึงให้ทหารซึ่งเป็นพลเดินเท้าแยกออกเป็นปีกกาเข้าตีโอบพวกพม่าทั้งสองข้าง ส่วนพระยาวชิรปราการ (สิน) กับทหารอีก 4 คน ก็ขี่ม้าตรงเข้าไล่ฟันทหารม้าพม่าซึ่งนำทัพมาอย่างไม่ทันรู้ตัวก็แตกร่นไป ถึงพลเดินเท้า พวกทหารพระยาวชิรปราการได้ทีเข้ารุกไล่ฆ่าฟันทหารพม่าจนแตกพ่ายไป การชนะในครั้งนี้ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ทหารพระยาวชิรปราการ (สิน) เป็นอย่างมากในโอกาสสู้รบกับพม่าในโอกาสต่อไป

พวกราษฏรที่หลบซ่อนเร้นพม่าอยู่ได้ทราบกิตติศัพท์การรบชนะของพระยาวชิรปราการ (สิน) ต่อทหารพม่าต่างก็มาขอเข้าเป็นพวก และได้เป็นกำลังสำคัญในการเกลี้ยกล่อมผู้ที่ตั้งตัวเป็นหัวหน้า นายซ่องต่าง ๆ มาอ่อนน้อมขุนชำนาญไพรสนฑ์ และนายกองช้างเมืองนครนายก มีจิตสวามิภักดิ์ได้นำเสบียงอาหารและช้างม้ามาให้เป็นกำลังเพิ่มขึ้น ส่วนนายซ่องใหญ่ซึ่งมีค่ายคูยังทะนงตนไม่ยอมอ่อนน้อม พระยาวชิรปราการ (สิน) ก็คุมทหารไปปราบจนได้ชัยชนะแล้วจึงยกทัพผ่านเมืองนครนายกข้ามลำน้ำเมือง ปราจีนบุรีไปตั้งพักที่ชายดงศรีมหาโพธิ์ข้างฟากตะวันตก

ทหารพม่าเมื่อแตกพ่ายไปจากบ้านพรานนกแล้วก็กลับไปรายงานนายทัพที่ตั้งค่าย ณ ปากน้ำเจ้าโล้ เมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งกองทัพพม่ากองสุดท้ายที่รวบรวมกำลังกันทั้งทัพบกทัพเรือไปรอดัก พระยาวชิรปราการ (สิน) อยู่ ณ ที่นั้น และตามทัพพระยาวชิรปราการ (สิน) ทันกันที่ชายทุ่ง พระยาวชิรปราการ (สิน) เห็นว่าจะต่อสู้กับข้าศึก ซึ่ง ๆ หน้าไม่ได้ อีกทั้งมีกำลังน้อยกว่ายากที่จะเอาชัยชนะแก่พม่าได้ จึงเลือกเอาชัยภูมิพงแขมเป็นกำบังแทนแนวค่าย และแอบตั้งปืนใหญ่น้อยรายไว้หมายเฉพาะทางที่จะล่อพม่าเดินเข้ามา แล้วพระยาวชิรปราการ (สิน) ก็นำทหารประมาณ 100 คนเศษ คอยรบพม่าที่ท้องทุ่ง ครั้นเมื่อรบกันสักพักหนึ่งก็แกล้งทำเป็นถอยหนีไปทางช่องพงแขมที่ตั้งปืน ใหญ่เตรียมไว้ ทหารพม่าหลงกลอุบายรุกไล่ตามเข้าไปก็ถูกทหารไทยระดมยิงและตีกระหนาบเข้ามา ทางด้านหน้า ขวา และซ้าย จนทหารพม่าไม่มีทางจะต่อสู้ได้ต่อไปทำให้ทหารพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่รอดตายต่างถอยหนีอย่างไม่เป็นกระบวนก็ถูกพระยาวชิรปราการ (สิน) นำทหารไล่ติดตามฆ่าฟันล้มตายอีก นับตั้งแต่นั้นมาทหารพม่าก็ไม่กล้าจะติดตามพระยาวชิรปราการ (สิน) อีกต่อไป

เมื่อพระยาวชิรปราการ (สิน) ได้ชัยชนะพม่าแล้วได้ยกทัพผ่านบ้านทองหลาง พานทอง บางปลาสร้อย บ้านนาเกลือ เขตเมืองชลบุรี ต่างก็มีผู้คนเข้าร่วมสมทบมากขึ้นจนมีรี้พลเป็นกองทัพ จากนั้นพระยาวชิรปราการ (สิน) ก็เดินทางไปเมืองระยอง โดยหมายจะเอาเมืองระยองเป็นที่ตั้งมั่นต่อไป ครั้นถึงเมืองระยอง พระยาระยองชื่อบุญ เห็นกำลังพลของพระยาวชิรปราการมีจำนวนมากมายที่จะต้านทานได้จึงพากันออกมา ต้อนรับ พระยาวชิรปราการ (สิน) จึงตั้งค่ายที่ชานเมืองระยอง ขณะนั้นมีพวกกรมการเมืองระยองหลายคนแข็งข้อคิดจะสู้รบ จึงได้ยกกำลังเข้าปล้นค่ายในคืนวันที่สองที่หยุดพัก แต่พระยาวชิรปราการ (สิน) รู้ตัวก่อน จึงได้ดับไฟในค่ายเสียและมิให้โห่ร้องหรือยิงปืนตอบ รอจนพวกกรมการเมืองเข้ามาได้ระยะทางปืน พระยาวชิรปราการ (สิน) ก็สั่งยิงปืนไปยังพวกที่จะแหกค่ายด้านวัดเนิน พวกที่ตามหลังมาต่างก็ตกใจและถอยหนี พระยาวชิรปราการ (สิน) คุมทหารติดตามไปเผาค่ายและยึดเมืองระยองได้ในคืนนั้น

การที่พระยาวชิรปราการ (สิน) เข้าตีเมืองระยองได้และกรุงศรีอยุธยายังมิได้เสียทีแก่พม่าแต่ประการใด จึงถือเสมือนเป็นผู้ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ดังนั้น พระยาวชิรปราการ (สิน) ก็ระวังตนมิได้คิดตั้งตัวเป็นกบฏ และให้เรียกคำสั่งว่า พระประศาสน์อย่างเจ้าเมืองเอก พวกบริวารจึงเรียกว่า เจ้าตาก ตั้งแต่นั้นมา

เมื่อเจ้าตากตั้งตัวเป็นอิสระที่เมืองระยอง ส่วนเมืองอื่น ๆ ทางหัวเมืองชายทะเลตะวันออกนับตั้งแต่เมืองบางละมุง เมืองชลบุรี เมืองจันทบุรี เมืองตราด ต่างก็ยังเป็นอิสระ เจ้าตากจึงมีความคิดที่จะรวบรวมเมืองต่าง ๆ เหล่านี้ไว้เป็นพวกเดียวกันเพื่อช่วยกันปราบปรามพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยา และเล็งเห็นว่าเมืองจันทบุรีเป็นเมืองใหญ่กว่าหัวเมืองอื่น มีเจ้าปกครองอยู่เป็นปกติมีกำลังคนและอาหารบริบูรณ์ ชัยภูมิก็เหมาะที่จะใช้เป็นที่ตั้งมั่นยิ่งกว่าหัวเมืองใกล้เคียงทั้งหลาย จึงแต่งทูตให้ถือศุภอักษรไปชักชวนพระยาจันทบุรีช่วยกันปราบปรามข้าศึก ในครั้งแรกได้ตอบรับทูตโดยดีและรับว่าจะมาปรึกษาหารือกับเจ้าตากเกรงจะถูก ชิงเมืองจึงไม่ยอมไปพบ

ครั้นถึงเดือน 5 ปีกุน พ.ศ. 2310 ข่าวกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 แล้ว ก็มีคนไทยที่มีสมัครพรรคพวกมากต่างก็ตั้งตัวเป็นใหญ่พระยาจันทบุรียังไม่ยอม เป็นไมตรีกับเจ้าตาก ส่วนขุนรามหมื่นซ่อง กรมการเมืองระยองผู้หนึ่งที่เคยปล้นค่ายเจ้าตากก็ไปซ่องสุมผู้คนอยู่ที่ เมืองแกลง ซึ่งขณะนั้นขึ้นกับเมืองจันทบุรีและคอยปล้นชิงช้างม้าพาหนะของเจ้าตาก เจ้าตากจึงยกกำลังไปปราบ ขุนรามหมื่นซ่องสู้ไม่ได้หนีไปอยู่กับพระยาจันทบุรี ครั้นเจ้าตากจะยกพลติดตามไปก็พอดีได้ข่าวว่าทางเมืองชลบุรี นายทองอยู่นกเล็กตั้งตัวเป็นใหญ่ ผู้ใดจะเข้ากับเจ้าตาก นายทองอยู่นกเล็กก็จะยึดเอาไว้เสีย เจ้าตากจึงรีบยกทัพไปเมืองชลบุรีแล้วส่งเพื่อนฝูงของนายทองอยู่นกเล็กเกลี้ย กล่อม นายทองอยู่นกเล็กเห็นจะสู้รบไม่ไหวจึงยอมอ่อนน้อม เจ้าตากจึงตั้งนายทองอยู่นกเล็กเป็นพระยาอนุราฐบุรี ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี แล้วก็เลิกทัพกลับ

ฝ่ายพระยาจันทบุรีได้ปรึกษากับขุนรามหมื่นซ่องเห็นว่าจะรบพุ่งเอาชนะเจ้าตากซึ่ง หน้าคงจะชนะยาก ด้วยเจ้าตากมีฝีมือเข้มแข็งทั้งรี้พลก็ชำนาญศึก จึงคิดกลอุบายจะโจมตีกองทัพเจ้าตากขณะกำลังข้ามน้ำเข้าเมืองจันทบุรี โดยนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป เป็นทูตมาเชิญเจ้าตากไปตั้งที่เมืองจันทบุรี แต่ในระหว่างเจ้าตากเดินทางจะข้ามน้ำเข้าเมืองจันทบุรีอยู่นั้นได้มีผู้ มาบอกให้เจ้าตากทราบกลอุบายนี้เสียก่อน เจ้าตากจึงให้เลี้ยวกระบวนทัพไปตั้งที่ชายเมืองด้านเหนือบริเวณวัดแก้ว ห่างประตูท่าช้างเมืองจันทบุรีประมาณ 5 เส้น แล้วเชิญพระยาจันทบุรีออกมาหาเจ้าตากก่อนที่จะเข้าเมือง แต่พระยาจันทบุรีไม่ยอมออกมาต้อนรับพร้อมกับระดมคนประจำรักษาหน้าที่ เชิงเทิน
เจ้า ตากได้ทบทวนถึงสถานการณ์ต่าง ๆ แล้ว เห็นว่าแม้ข้าศึกจะครั่นคร้ามฝีมือไม่กล้าโจมตีซึ่งหน้าก็ตาม แต่ฝ่ายพระยาจันทบุรีมีจำนวนมากกว่า ถ้าเจ้าตากล่าถอยไปเมื่อใด ทัพจันทบุรีก็จะล้อมไล่ตีได้หลายทาง เพราะไม่มีเสบียงอาหาร เจ้าตากจึงตัดสินใจจะต้องเข้าตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ให้ได้ และแสดงออกถึงน้ำใจอันเด็ดเดี่ยวโดยสั่งนายทัพนายกองว่า 

“เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำ วันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเย็นกินเสร็จแล้วทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือและ ต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ก็จะได้ตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว”
ครั้นได้ฤกษ์เวลา 3 นาฬิกา เจ้าตากพร้อมด้วยทหารไทยจีนเข้าโจมตีเมืองจันทบุรีอย่างเข้มแข็งและเด็ด เดี่ยวโดยเจ้าตากขี่ช้างพังคีรีบัญชรเข้าพังประตูเมืองได้สำเร็จ พวกทหารก็กรูกันเข้าเมืองได้ ชาวเมืองต่างก็เสียขวัญละทิ้งหน้าที่แตกหนีไป ส่วนพระยาจันทบุรีพาครอบครัวลงเรือหนีไปเมืองบันทายมาศ

เมื่อเจ้าตากจัดเมืองจันทบุรีเรียบร้อยแล้ว ก็ยกทัพบกทัพเรือลงไปเมืองตราด พวกกรมการเมืองและราษฎรต่างยอมอ่อนน้อมโดยดี แต่ยังมีพ่อค้าในสำเภาที่จอดอยู่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำไม่ยอมอ่อนน้อม เจ้าตากได้ยกทัพเรือโจมตีสำเภาจีนได้ทั้งหมดในครึ่งวัน และสามารถยึดทรัพย์สิ่งของได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำมาจัดเตรียมกองทัพเข้ากู้เอกราช

เจ้าตากได้จัดการเมืองตราดเรียบร้อยก็ย่างเข้าสู่ฤดูฝนพอดี จึงยกกองทัพกลับเมืองจันทบุรี เพื่อตระเตรียมกำลังคน สะสมเสบียงอาหาร อาวุธยุทธภัณฑ์ และต่อเรือรบได้ถึง 100 ลำ รวบรวมกำลังคนเพิ่มได้อีกเป็นคนไทยจีน ประมาณ 5,000 คนเศษ กับมีข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาได้หลบหนีพม่ามาร่วมด้วยอีกหลายคน และที่สำคัญก็คือ หลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก นายสุดจินดาหุ้มแพรมหาดเล็ก

พอถึงเดือน 11 พ.ศ.2310 หลังสิ้นฤดูมรสุมแล้ว เจ้าตากก็ยกกองทัพเรือจากเมืองจันทบุรีเพื่อมากอบกู้เอกราช ระหว่างทางได้หยุดชำระความพระยาอนุราฐบุรีที่เมืองชลบุรี ซึ่งประพฤติตัวเยี่ยงโจรเข้าตีปล้นเรือลูกค้า ชำระได้ความเป็นสัตย์จริง จึงให้ประหารชีวิตพระยาอนุราฐบุรีเสีย แล้วยกทัพเรือเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาในเดือน 12

กองทัพเรือภายใต้การบังคับบัญชาของเจ้าตากได้เข้าโจมตีเมืองธนบุรีเป็นครั้งแรก มีนายทองอินคนไทยที่พม่าให้รักษาเมืองอยู่ พอนายทองอินทราบข่าวว่าเจ้าตากยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา ก็ให้คนรีบขึ้นไปบอกข่าวแก่สุกี้พระนายกองแม่ทัพพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น แล้วเรียกระดมพลขึ้นรักษาป้อมวิชเยนทร์ และหน้าแท่นเชิงเทิน

ครั้นกองทัพเรือเจ้าตากเดินทางมาถึง รี้พลที่รักษาเมืองธนบุรี กลับไม่มีใจสู้รบเพราะเห็นเป็นคนไทยด้วยกันเอง ดังนั้นกองทัพเรือของเจ้าตากเข้ารบพุ่งเพียงเล็กน้อยก็สามารถตีเมืองธนบุรี ได้ เจ้าตากให้ประหารชีวิตนายทองอินเสียแล้วเร่งยกกองทัพเรือไปตีกรุงศรีอยุธยา

สุกี้แม่ทัพพม่าได้ข่าวเจ้าตากตีเมืองธนบุรีได้แล้ว ก็ส่งมองญ่านายทัพรองคุมพลซึ่งเป็นมอญและไทยยกกองทัพเรือไปสกัดกองทัพเรือ เจ้าตากอยู่ที่เพนียด เจ้าตากยกกองทัพเรือขึ้นไปถึงกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลาค่ำสืบทราบว่ามีกองทัพ ข้าศึกยกมาตั้งรับคอยอยู่ที่เพนียดไม่ทราบว่ามีกำลังเท่าใด ฝ่ายพวกคนไทยที่ถูกเกณฑ์มาในกองทัพมองญ่ารู้ว่ากองทัพเรือที่ยกมานั้นเป็นคน ไทยด้วยกัน ก็คิดจะหลบหนีบ้าง จะหาโอกาสเข้าร่วมกับเจ้าตากบ้างมองญ่าเห็นพวกคนไทยไม่เป็นอันจะต่อสู้เกรง ว่าจะพากันกบฏขึ้น จึงรีบหนีกลับไปค่ายโพธิ์สามต้นในคืนนั้น

เจ้าตากทราบจากพวกคนไทยที่หนีพม่ามาเข้าด้วยว่า พม่าถอยหนีจากเพนียดหมดแล้ว ก็รีบยกกองทัพขึ้นไป ตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น 2 ค่าย พร้อมกันในตอนเช้า สู้รบกันจนเที่ยง เจ้าตากก็เข้าค่ายพม่าได้ สุกี้ตายในที่รบ จึงถือว่า เจ้าตากได้กอบกู้เอกราชชาติไทยกลับคืนมาได้แล้ว หลังจากที่ไทยต้องสูญเสียเอกราชในครั้งนี้เพียง 7 เดือน

ภายหลังที่พระเจ้าตากมีชัยชนะกับพม่าแล้ว ทรงทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองกรุงธนบุรี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ชาติบ้านเมืองเพิ่งเป็นอิสระจากพม่า จิตใจของประชาราษฎรยังระส่ำระสาย ประกอบกับสภาพบ้านเมืองที่ถูกข้าศึกเผาผลาญทำลายปรากฎให้เห็นอยู่ทั่วไป ก็ยิ่งก่อให้เกิดความเศร้าโศกสะเทือนใจจนยากที่จะหาสิ่งใดมาลบล้างความ รู้สึกสลดหดหู่นั้นได้ บ้านเมืองยังต้องการความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติจะต้องเรียกขวัญและ กำลังใจของประชาชนให้กลับคืน อยู่ในสภาพปกติโดยเร็วที่สุด ไหนจะต้องป้องกันศัตรูจากภายนอกประเทศที่คอยหาโอกาสจะเข้ารุกราน จึงต้องรวบรวมคนไทยที่แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่าถึง 5 ก๊ก คือ

           ก๊กที่ 1 เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตั้งตัวเป็นเจ้าที่เมืองพิษณุโลก           ก๊กที่ 2 เจ้าพระฝาง (เรือน) อยู่ที่วัดพระฝาง เมืองสวางคบุรี ตั้งตัวเป็นเจ้าทั้งที่ยังเป็นพระ           ก๊กที่ 3 เจ้านคร (หนู) เดิมเป็นปลัดผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราช           ก๊กที่ 4 กรมหมื่นเทพพิพิธ ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองพิมาย           ก๊กที่ 5 คือก๊กพระยาตาก ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองจันทบุรี
ซึ่งก๊กต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นพระราชภาระที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะต้องทรงกระทำโดย เร็ว ดังจะได้จำแนกพระราชกรณียกิจของพระองค์ออกเป็น 2 ด้านคือ การสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง และการฟื้นฟูบ้านเมืองทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ
 

การสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง

       ทรงกระทำตลอดรัชกาลของพระองค์ นับตั้งแต่การปราบปรามชาวไทยที่แบ่งเป็นก๊กต่าง ๆ การปราบปรามหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่อง ตลอดจนการทำสงครามกับพม่าทำให้พม่าลบคำดูหมิ่นไทย เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ชาวไทยที่ยังไม่หายครั่นคร้ามพม่าได้มีกำลัง ใจดีขึ้น ดังนี้

1. การปราบปรามก๊กต่าง ๆ
  • พ.ศ.2311 ยกกองทัพไปปราบกรมหมื่นเทพพิพิธได้สำเร็จ แล้วสำเร็จโทษกรมหมื่นเทพพิพิธด้วยท่อนจันทน์ ตามประเพณี
  • พ.ศ.2312 ยกทัพบกและทัพเรือไปปราบเจ้านครศรีธรรมราชได้สำเร็จ เมืองตานี และไทรบุรี ขอยอมเข้ารวมเป็นขัณฑสีมาด้วยกัน
  • พ.ศ.2313 ยกกองทัพไปตีเมืองสวางคบุรี ขณะที่เจ้าพระฝางตีได้เมืองพิษณุโลกแล้วจึงยกกองทัพเข้าล้อมเมืองพิษณุโลก เจ้าพระฝางฝ่าแนวล้อมหนีรอดไปได้
2. การทำสงครามกับพม่า
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทำศึกกับพม่า ถึง 9 ครั้ง แต่ละครั้งแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ทางด้านยุทธศาสตร์อย่างดี เยี่ยม พร้อมด้วยน้ำพระทัยที่เด็ดเดี่ยวฉับไว การทำสงครามกับพม่าดังกล่าว ได้แก่
  • สงครามครั้งที่ 1 รบพม่าที่บางกุ้ง พ.ศ.2310
  • สงครามครั้งที่ 2 พม่าตีเมืองสวรรคโลก พ.ศ.2313
  • สงครามครั้งที่ 3 ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก พ.ศ.2313 - 2314
  • สงครามครั้งที่ 4 พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 1 พ.ศ.2315
  • สงครามครั้งที่ 5 พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 2 พ.ศ.2316
  • สงครามครั้งที่ 6 ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 2 พ.ศ.2317
  • สงครามครั้งที่ 7 รบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี พ.ศ.2317
  • สงครามครั้งที่ 8 อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ.2318
  • สงครามครั้งที่ 9 พม่าตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2319
สำหรับสงครามรบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี พ.ศ. 2317 เป็นสงครามที่ทำให้พม่าครั่นคร้าม และเข็ดหลาบไม่กล้ามารุกรานไทยอีกต่อไป

3. การขยายพระราชอาณาเขตไปยังหลวงพระบางและเวียงจันทน์
พ.ศ.2321 พระเจ้านครหลวงพระบางขอสวามิภักดิ์เข้ารวมในพระราชอาณาจักร ส่วนนครเวียงจันทน์ซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นพม่าตั้งแต่ พ.ศ.2317 ได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเดินทัพเข้ามาในพระราชอาณาเขต เพื่อกำจัดพระวอเสนาบดีเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีจึงโปรดให้กองทัพไทยยกไปตีเมืองเวียงจันทน์ ได้ เมื่อ พ.ศ.2322 โปรดให้พระยาสุโภอยู่รักษาเมือง เมื่อเสร็จสงคราม สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร (พระแก้วมรกต) และพระบาง จากเวียงจันทน์ มาประดิษฐาน ณ กรุงธนบุรีด้วย

4. การขยายพระราชอาณาเขตไปยังกัมพูชา

พ.ศ.2312 ทรงโปรดให้ยกกองทัพไปตีกรุงกัมพูชา เนื่องจากเจ้าเมืองกัมพูชาไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ตามราชประเพณีที่เคยปฏิบัติมา ทัพไทยตีได้เมืองเสียมราฐ และพระตะบอง

พ.ศ. 2314 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกกองทัพไปตีกัมพูชาได้สำเร็จ สาเหตุจากขณะไทยทำศึกกับพม่าอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระนารายณ์ราชากษัตริย์กรุงกัมพูชาได้ถือโอกาสมาตีเมืองตราด และเมือง จันทบุรี เมื่อตีกัมพูชาได้แล้วทรงมอบให้นักองค์นนท์ปกครองต่อไป

พ.ศ.2323 กัมพูชาเกิดจลาจลแย่งชิงราชสมบัติกันเอง จึงเหลือนักองค์เอง ที่มีพระชนม์เพียง 4 พรรษา ปกครองโดยมีฟ้าทะละหะ (มู) ว่าราชการแทน และเอาใจออกห่างฝักใฝ่ญวน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ไปปราบปราม และมีพระราชโองการให้อภิเษกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์พระราชโอรสองค์ ใหญ่ขึ้นครองกัมพูชา ทัพไทยตีเมืองรายทางได้จนถึงเมืองบัณฑายเพชร พอดีกับกรุงธนบุรีเกิดจลาจลจึงเลิกทัพกลับ

อาณาเขตกรุงธนบุรีได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ดังนี้
  • ทิศเหนือ   ตลอดอาณาจักรลานนา
  • ทิศใต้     ตลอดเมืองไทรบุรีและตรังกานู
  • ทิศตะวันออก     ตลอดกัมพูชาจดญวนใต้
  • ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ     ตลอดนครเวียงจันทน์ หัวเมืองพวน และนครหลวงพระบาง หัวพันทั้งห้าทั้งหก
  • ทิศตะวันออกเฉียงใต้     ตลอดเมืองพุทธไธมาศ
  • ทิศตะวันตก     ตลอดเมืองมะริด และตะนาวศรีออกมหาสมุทรอินเดีย
พระ เจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นผู้สร้างวีรกรรมกอบกู้แผ่นดิน ศาสนา ฟื้นฟูขวัญและกำลังใจของปวงชนที่สิ้นหวังให้รวมพลังเป็นปึกแผ่น สามารถปกป้องรักษาราชอาณาจักรไทยไว้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้ คณะรัฐมนตรีจึงให้ความเห็นชอบตามคำเรียกร้องของประชาชน ให้ถวายพระราชสมัญญานามว่า “ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ” เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2524





ข้อมูลจากเว็บไซต์กองทัพเรือ http://navy.mi.th
ภาพจากวัดเชิงท่า พระนครศรีอยุธยา

  

พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม


พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย 
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม


                   สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2434  (ก่อนปี 2484 วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับวันที่ เม.ย. ดังนั้นเดือน ม.ค. 2534 ซึ่งเป็นเดือนพระราชสมภพยังคงนับตามปฏิทินเก่า เมื่อเทียบกับปฏิทินสากลที่ใช้ในปัจจุบันจึงตรงกับ ม.ค.2435)

ทรงศึกษาในโรงเรียนราชกุมารตั้งแต่ก่อนโสกันต์จนถึงพระชนมายุได้ 13 ปี เดือน เป็นที่น่าอัศจรรย์ด้วยว่าพระชนมายุยังน้อย ทว่าทรงมีความรู้กว้างขวางในภาษาไทยยิ่งนัก และทรงศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก แต่เป็นเพียงเพื่อทรงรับการฝึกหัดท่ามือเปล่าให้ได้ทรงรู้จักกิริยาท่าทางของทหารบ้างเท่านั้น มิได้ทรงเข้าศึกษาวิชชาในชั้นต่างๆ
                   เมื่อพฤษภาคม พ.ศ.2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ ในส่วนสมเด็จเจ้าฟ้าราชโอรสนั้น ได้เสด็จไปทรงเริ่มเล่าเรียนที่ประเทศอังกฤษก่อนทุกพระองค์ จึงได้เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าราชโอรสอีก 3พระองค์ ทรงเล่าเรียนที่โรงเรียนแฮโรว์ ต่อมาพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้าราชโอรสได้แยกย้ายกันไปศึกษาวิชชาการทหาร ณ ประเทศเยอรมัน และด้วยความรู้ภาษาอังกฤษที่ได้ศึกษามานั้น นับเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการศึกษาวิชชาในกองทัพเรือ ทูลกระหม่อมได้ทรงศึกษาตั้งแต่เป็นคะเด็ตทหารเรือ จนเลื่อนยศเป็นเรือตรีรวมเวลาทั้งสิ้น ปีครึ่ง จึงจะนับว่ามีความรู้ความชำนาญ เป็นเรือตรีแห่งราชนาวีเยอรมันได้ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่1 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาต ตามที่ทรงปรารถนาที่จะลงประจำเรือรบแห่งราชนาวีเยอรมัน เพื่อดูการปฏิบัติการจริง จึงได้ทรงเสด็จกลับประเทศ
                    จากนั้นเสด็จกลับเข้ามารับราชการในกองทัพเรือ ต่อมาทรงมีอาการประชวรเรื้อรัง ไม่ทรงสามารถรับราชการหนัก เช่นการทหารเรือได้ ประกอบกับทรงพระดำริว่า ยังมีกิจการอย่างอื่นที่ทรงเห็นว่าสำคัญ และจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่า คือ การสาธารณสุข และการแพทย์ ดังนั้นพระองค์ท่านจึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ลาออกจากราชการทหารเรือแล้วเสด็จออกไปยังต่างประเทศ เพื่อศึกษาวิชาการสาธารณสุขและวิชาแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีพระราชดำรัสก่อนที่จะเสด็จไปศึกษาวิชาการแพทย์ต่อที่ต่างประเทศว่า" ฉันจะไปเรียนหมอหละ เพราะเป็นวิชาที่สนุกดี เรามีโอกาสรักษาคนได้ทั้งคนจนคนมั่งมี และเจ้านายต่าง ๆ ได้เต็มที่ หมอทำการกุศล ในการรักษาพยาบาลได้ดี เมืองไทยเราถ้าเจ้านายทรงทำหน้าที่อย่างสามัญชนเข้าบ้างเขาว่าเสียพระเกียรติ ฉันรู้สึกว่ามัวแต่รักษาพระเกียรติอยู่ก็ไม่ต้องทำอะไรกัน" ทรงสอบได้ประกาศนียบัตรการสาธารณสุข และปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกสวรรคตเมื่อ วันที่ 24กันยายน พ.ศ. 2472 รวมพระชนมายุ 37 พรรษา เดือน 23 วัน
                   21 ปี หลังจากที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกได้เสด็จสวรรคต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บรรดาศิษย์เก่าศิริราช ผู้ที่ได้รับทุนของพระองค์ไปศึกษา ณ ต่างประเทศ ผู้ที่เคยได้รับพระมหากรุณาในประการอื่นๆ ตลอดจนประชาชนผู้สนใจทั่วไปไ ด้ร่วมใจกันสร้างพระราชานุสาวรีย์ประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อเป็นการร่วมกันน้อมสำนึกพระเมตตาคุณพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย  โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง และมีศาสตราจารย์ศิลป พีรพศรี เป็นผู้ควบคุมงาน
                   โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดพระราชนุสาวรีย์เมื่อวันที 24 เมษายน พ.ศ. 2493 พระราชานุสาวรีย์นี้ได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมครั้งแรกเมื่อปี 2517 และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยสร้างรากฐานและบริเวณโดยรอบทั้งหมดเพื่อให้ถาวร สง่างามและสมพระเกียรติยิ่งขึ้น ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้
                   นอกเหนือจากพระราชกรณียกิจที่ได้รทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขแล้ว พระองค์ก็ทรงมีคุณูปการแก่กองทัพเรืออย่างใหญ่หลวง กองทัพเรือยังถือว่าใน "วันมหิดล" จะเป็นวันที่ร่วมรำลึกถึง จอมพลเรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อกองทัพเรือเป็นอเนกอนันต์ กองทัพเรือจึงได้จัดพิธีทำบุญวันมหิดลเป็นประจำทุกปี ตอนปลายเดือนมีนาคมนั้นเอง ทูนกระหม่อมได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นร้อยโท ในราชนาวี และได้ทรงรับราชการในกระทรวงทหารเรือตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ.2458 เป็นเวลาทั้งสิ้น 9 เดือนครึ่ง
                   ถึงแม้พระองค์ทรงเข้ารับราชการในกองทัพเรือเป็นระยะเวลาไม่นานนัก แต่ด้วยความที่ทรงเชี่ยวชาญทางเรือดำน้ำและเรือตอร์ปิโดรักษาฝั่ง สายพระเนตรอันกว้างไกลพระองค์ได้ทรงเสนอแนวคิดและโครงการสร้างกองเรือรบที่กองทัพเรือควรจะมีไว้ประจำการต่อเสนาธิการทหารเรือ จึงทำให้เกิดการสร้างกำลังรบทางเรือไว้ป้องกันประเทศชาติในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการมีเรือดำน้ำและเรือรบประเภทต่าง ๆนั้นทำให้ประเทศไทยสามารถป้องกันและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้อย่างมีศักยภาพและรักษาสันติสุขของชาติไว้ได้อย่างมั่นคง ดั่งที่ทหารเรือทั่วโลกในเวลานี้ต่างก็เล็งเห็นถึงความสำคัญ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)


สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
(ช่วง บุนนาค)



       
               สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีวงศ์มีนามเดิมว่า ช่วง บุนนาค เป็นบุตรชายคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์ เกิดเมื่อปีมะโรง วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ ตรงกับวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2351 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 9 คน แต่ในสุดเหลือท่านกับน้องอีก 4 คน คือ เจ้าคุณหญิงแข เจ้าคุณหญิงปุก เจ้าคุณหญิงหรุ่น และพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม) เท่านั้นที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่มาด้วยกัน

               ตอนเยาว์วัยเด็กชายช่วง บุนนาค ได้รับการศึกษาจากวัดพอประมาณ ไม่ได้เล่าเรียนอักขรสมัยอย่างลึกซึ้ง แต่ได้อ่านและเรียนตำราต่างๆ จากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่เสนาบดีกลาโหมและเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศหรือกรมท่า ทำให้ได้ทราบเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น มีความเฉลียวฉลาด ปฏิภาณไหวพริบทวีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในกระบวนการเมืองและการติดต่อกับต่างประเทศ และภายหลังที่รับราชการในกรมมหาดเล็ก ก็ศึกษาภาษาอังกฤษและวิชาช่างจากมิชชันนารี จนสามารถต่อเรือรบ (เรือกำปั้น) ใช้ในราชการได้

             นายช่วง บุนนาค ได้ถูกบิดานำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่ออายุราว 16 ปี ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นนายไชยขรรค์ มหาดเล็กหุ้มแพร นายไชยขรรค์เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ต่อมาได้โปรดเลื่อนนายไชยขรรค์เป็นหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า หลวงนายสิทธิ์

             หลวงสิทธิ์นายเวรรับราชการมีความดีความชอบมาก จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นโดยลำดับคือ ใน พ.ศ. 2384 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ เลื่อนหลวงสิทธิ์นายเวรขึ้นเป็นจมื่นไวยาวรนาถหัวหมื่นหมาดเล็ก และในตอนปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็กใน พ.ศ. 2393 ต่อมาในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 พระยาศรีสุริยวงศ์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าที่สมุหพระกลาโหม กับโปรดให้สร้างตราศรพระขรรค์พระราชทานสำหรับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ขณะที่มีอายุได้ 43 ปี นับเป็นข้าราชการที่มีอายุน้อยที่สุดในตำแหน่งสมุหพระกลาโหม

              ปรากฏว่า ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง นุนนาค) เป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากในการปกครองประเทศสยาม โดยเฉพาะหลังจากที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแก่พิราลัยและสวรรคตตามลำดับ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยิ่งมีความสำคัญมากจนสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า “ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เป็นเสมือนแม่ทัพแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็เป็นเหมือนเสนาธิการช่วยกันทำงานมาตลอดรัชกาลที่ 4” ดังนั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงเป็นบุคคลผู้มีความสำคัญในการปกครองประเทศสยามเป็นอันดับที่ 2 รองจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

             ต่อมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา พระบาทวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ ราชาคณะ และที่ประชุมเสนาบดีจึงเห็นสมควรแต่งตั้งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 ระหว่าง พ.ศ. 2411-2416 มีอำนาจอาญาสิทธิ์ที่จะปกครองประเทศ และประหารชีวิตผู้กระทำความผิดขั้นอุกฤษฏ์ได้ ต่อมาใน พ.ศ. 2416 เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัชกาลที่ 5 โปรดให้เลื่อนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ถือศักดินา 30,000

           เมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรียวงศ์มักออกไปพำนักอยู่ที่จังหวัดราชบุรี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2425 เวลา 5 ทุ่มเศษ บนเรือนที่ปากคลองกระทุ่มแบน สิริรวมอายุได้ 74 ปี 27 วัน รัชกาลที่ 5 โปรดให้ทำพิธีพระราชทานเพลิงศพของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อย่างสมเกียรติ ณ วัดบุปผาราม ธนบุรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2427

            เมื่อศึกษาถึงประวัติของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จะเห็นได้ว่าท่านเป็นอัจฉริยบุรุษผู้มีชื่อเสียงเด่นที่สุดในบรรดาสมาชิกทั้งหลายของตระกูลบุนนาค ไม่เพียงแต่ชื่อเสียงของท่านจะเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวไทยว่า ท่านเป็นผู้มีอำนาจและอิทธิพลในการปกครองประเทศสยามในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 และที่ 5 เท่านั้น แต่ท่านยังเป็นที่รู้จักกันดีในบรรดาชาวต่างประเทศตั้งแต่สมัยเมื่อท่านมีชีวิตอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้

         ตลอดอายุของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ท่านได้สร้างผลงานในด้านต่าง ๆ ไว้มากมาย ดังต่อไปนี้ คือ


บทบาททางด้านการเมืองการปกครอง

      ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเห็นการณ์ไกลว่า ต่อไปภายหน้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จะเป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ในหมู่เสนาบดี ดังจะเห็นได้จากพระบรมราชโองการตอนหนึ่งที่มีต่อพระยาศรีสุริยวงศ์ก่อนที่พระองค์จะสวรรคตว่า “...ที่สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่ ก็เห็นแต่ท่านฟ้าใหญ่ ท่านฟ้าน้อย 2 พระองค์ ...การต่อไปภายหน้า เห็นแต่เอง (คือ พระยาศรีสุริยวงศ์) ที่จะรับราชการเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ต่อไป การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้”

           เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรใกล้จะสวรรคต พระยาศรีสุริยวงศ์ได้มีส่วนเสนอความเห็นต่อเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม (ดิศ) ผู้เป็นบิดาว่า ควรจะสนับสนุนให้เจ้าฟ้ามงกุฎได้ขึ้นครองราชย์และมีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ต่อไป เพราะเป็นพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระบรมราชินี บ้านเมืองจึงจะเป็นปกติต่อไป ซึ่งเจ้าพระยาพระคลังก็เห็นด้วย จึงกล่าวได้ว่า พระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการอัญเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎมาทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4

            ในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายหลังที่ไทยทำสนธิสัญญากับนานาประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบอำนาจให้แก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ทั้งทางด้านการเมือง การทหาร และการปกครองประเทศ เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงต้องการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยตามแบบอย่างชาวยุโรป ก็ได้ส่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร และพระองค์เจ้าชายสุประดิษฐ์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ออกไปดูการต่างประเทศ ณ สิงคโปร์ใน พ.ศ. 2404 เพื่อดูแบอย่างการบริหารและการปกครองของอังกฤษนำมาปรับปรุงบ้านเมือง

            จึงนัยได้ว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้มีอำนาจอย่างกว้างขวางตลอดสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อรัชกาลที่ 4 จะเสด็จสวรรคต ก็ทรงฝากฝังและให้ท่านเป็นผู้พิจารณาว่า ควรจะมอบสมบัติให้แก่ผู้ใด และเมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้สนับสนุนให้เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ซึ่งยังทรงพระเยาว์ได้เป็นกษัตริย์ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สมเร็จราชการแผ่นดินจนกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จะทรงมีพระชนมายุบรรลุนิติภาวะ นอกจากนี้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยังเป็นแรงสำคัญในการสนับสนุนให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล อำนาจอันยิ่งใหญ่ที่มีอยู่นี้ ถ้าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะคิดทรยศต่อราชบัลลังก์ โดยยกตนเองเป็นกษัตริย์ก็ย่อมจะทำได้ แต่ท่านหาได้มีความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูงเกินศักดิ์ไม่ หากแต่มีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นอย่างยิ่ง คติประจำใจที่ท่านยึดถือไว้คือคำโบราณที่ว่า “คำพระ คำพระมหากษัตริย์ คำบิดามารดา ใครลบล้างก็เป็นอกตัญญู”

            เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์อยู่ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินระหว่าง พ.ศ. 2411-2416 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกผนวชและทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2416 แล้ว ก็โปรดเลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มีสร้อยสมญาภิไธยตามจารึกในสุพรรณบัตรว่า “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สมันตพงศ์พิสุทธิ มหาบุรุษยรัตโนดม บรมราชุตมรรคมหาเสนาบดี มหาสุริยมัณฑลีมุรธาธร จักรรัตนสหจรสุรศรขรรค์ วรลัญจธานินทร์ ปริมินทรมหาราชวรานุกูล สรรพกิจจานุกิจมูลประสาท ปรมามาตยกูลประยูรวงศ์วิวัฒน์ สกลรัชวรณาจักโรประสดัมภ์ วรยุติธรรมอาชวาธยาศัยศรีรัตนตรัยคุณาภรณ์ภูษิต อเนกบุยฤทธิประธิสรรค์ มหันตวรเดชานุภาพบพิตร” หลังจากนั้นก็พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่คนทั่วไปยังคงเรียกท่านว่า “ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” เป็นหัวหน้าเสนาบดี มีหน้าที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ช่วยทำนุบำรุงบ้านเมือง อย่างไรก็ดีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ยังคงมีอำนาจและอิทธิพลยิ่งใหญ่ในประเทศสยาม ท่านได้ถือตรามหาสุริยมณฑล ได้บังคับบัญชาข้าราชการแผ่นดินทั่วพระราชอาณาจักรอย่างเป็นที่ปรึกษาที่สำคัญยิ่งในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยังมีอำนาจสิทธิ์ขาดที่จะสั่งประหารชีวิตนักโทษขั้นอุกฤษฏ์ได้

 บทบาททางด้านการต่างประเทศ
            สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ตั้งแต่ครั้งยังเป็นหลวงสิทธินายเวร มีความคุ้นเคยกับชาวต่างประเทศมาก โดยเฉพาะมิชชันนารีอเมริกันที่เข้ามาอยู่ในไทย การที่ได้คบหาสมาคมกับมิชชันนารีนี้ ทำให้ท่านได้มีโอกาสศึกษาภาษาอังกฤษ และรู้ขนบธรรมเนียมของชาวตะวันตก หมอบรัดเลย์แห่งคณะอเมริกันคอมมิชชันเนอร์ ฟอร์ฟอเรน มิชชัน ได้กล่าวถึงหลวงสิทธินายเวรไว้ในบันทึกรายวันมีข้อความตอนหนึ่งว่า “...ท่าทางคมขำ พูดจาไพเราะมีอัธยาศัยดี...” พวกมิชชันนารีได้ไปหาหลวงนายสิทธิยังบ้านของท่าน บ้านของหลวงนายสิทธินี้ หมอบรัดเลย์กล่าวว่าใหญ่โตงดงามมาก ที่หน้าบ้านเขียนป้ายติดไว้ว่า “นี่บ้านหลวงนายสิทธิ ขอเชิญท่านสหายทั้งหลาย” ที่บ้านหลวงนายสิทธินี้ พวกมิชชันนารีได้รู้จักคนดี ๆ อีกหลายคน ข้อนี้พวกมิชชันนารีรู้สึกชอบพอแลรักใคร่ท่านมาก...”

             สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เคยเกี่ยวข้องกับงานด้านการต่างประเทศมาตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวสงครามอันนัมสยามยุทธ์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อครั้งเป็นจมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก รับหน้าที่เป็นแม่ทัพหน้าคุมกำลังไปรบกับญวนที่เมืองบันทายมาศ (ฮา เตียน) โดยมีเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในสมัยรัชกาลที่ 4) ทรงเป็นแม่ทัพคุมกองทัพเรือไปรบ

           ในด้านการติดต่อกับต่างประเทศนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้รับความไว้วางใจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก ดังปรากฏในพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 3 ตอนหนึ่งว่า “...จมื่นไวยวรนาถเล่าก็เป็นคนสันทัดหนักในอย่างธรรมเนียมฝรั่ง...”

           ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อประธานาธิบดีซาคารี เทย์เลอร์ แห่งสหรัฐอเมริกาส่งนายโจเซฟ บาเลสเตียร์ เข้ามาขอแก้ไขสนธิสัญญากับไทย เมื่อ พ.ศ. 2392 จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งมีหน้าที่คอยดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่ที่เมืองสมุทรปราการได้มีส่วนได้มีส่วนในการต้อนรับทูตอเมริกันคณะนี้ และเป็นผู้ติดต่อระหว่างบาเลสเตียร์กับเสนาบดีผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ถึงเรื่องการทำการเจรจากัน ตลอดจนการจะเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเมื่อลอร์ดปาล์มเมอร์สตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษได้แต่งตั้งให้เซอร์เจมส์บรุ๊ค เป็นผู้แทนเข้ามาขอแก้ไขสนธิสัญญาเบอร์นีกับไทยใน พ.ศ. 2393 จมื่นไวยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้หนึ่งที่รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการตรวจร่างสัญญา และเป็นผู้รับร่างหนังสือของฝ่ายไทยไปเขียนลงกระดาษให้เรียบร้อยส่งตอบหนังสือของเซอร์เจมส์ บรุ๊ค

            ต่อมาใน พ.ศ. 2398 เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษทรงแต่งตั้งเซอร์จอห์นบาวริง ผู้สำเร็จราชการประจำฮ่องกง เป็นราชทูตมาขอแก้ไขสนธิสัญญาเบอร์นี เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้รับมอบหมายจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นผู้หนึ่งในคณะข้าหลวงดำเนินการเจรจากับอังกฤษ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มีบทบาทเป็นผู้ประสานการเจรจาระหว่างทูตอังกฤษกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ จนทำให้มีการลงนามในสนธิสัญญาบาวริงได้เป็นผลสำเร็จ

            ระหว่างการเจรจา เซอร์จอห์น บาวริง ได้บันทึกสรรเสริญเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่า เป็นผู้มีสติปัญญาและความสามารถยอดเยี่ยม มีความคิดก้าวหน้าและใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เมื่อเทียบกับบรรดาข้าราชการในสมัยนั้น ดังปรากฏข้อความในหมายเหตุประจำวันลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2398 ว่า

          “...ท่านผู้นี้ ถ้าไม่เป็นเจ้ามารยาอย่างยอด ก็เป็นคนรักบ้านเมืองจริง แต่จะเป็นเจ้ามารยาหรือเป็นคนรักบ้านเมืองก็ตาม ต้องว่าเป็นผู้มีความฉลาด ล่วงรู้กาลล้ำคนทั้งหลายที่เราได้พบในที่นี้ เป็นผู้มีกิริยาอัชฌาศัยอย่างผู้ดี และรู้จักพูดพอเหมาะแก่กาละเทศะ...”

และอีกข้อความหนึ่งในหมายเหตุประจำวัน ลงวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2398 ว่า

          “...นิสัยของอัครมหาเสนาบดีนั้นน่าสรรเสริญมาก...ท่านได้กล่าวแก่เราหลายครั้งว่า ถ้าเรามีความมุ่งหมายจะช่วยประชาชนให้พ้นความกดขี่และช่วยบ้านเมืองให้พ้นภาษีผูกขาด ซึ่งจะเอาประโยชน์ของบ้านเมืองไปเป็นส่วนบุคคลนั้น ก็จะช่วยเราเหนื่อยด้วย และถ้าทำการสำเร็จ ชื่อเสียงของเราก็จะเป็นที่ยกย่องต่อไปชั่วกาลนาน และบางคราวพูดอย่างโกรธเกรี้ยว ถ้าท่านผู้นี้มีใจจริงดังปากว่า ก็ต้องนับว่าเป็นคนรักบ้านเมือง และฉลาดเลิศที่สุดคนหนึ่งในเหล่าประเทศตะวันออก...”

             ภายหลังที่ไทยทำสนธิสัญญากับนานาประเทศแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สนับสนุนให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษและฝรั่งเศสตามลำดับ อันเป็นการเริ่มศักราชทางการทูตระหว่างไทยกับมหาอำนาจตะวันตกเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการเพิ่มพูนสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับบรรดาชาติยุโรปและเอเชียให้กว้างขวางยิ่งขึ้นมาจนทุกวันนี้



งานทางด้านวิทยาการสมัยใหม่

         สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ให้ความสนใจในวิทยาการสมัยใหม่ที่พวกมิชชันนารีนำเข้ามาเผยแพร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับด้านสถาปัตย์กรรม วิชาการช่าง และเทคนิคต่าง ๆ ตามแบบอย่างตะวันตก ที่สำคัญได้แก่ 1. การต่อเรือกำปั่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อครั้งเป็นหลวงสิทธิ์นายเวรในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นผู้มีความสามารถในการต่อเรือโดยศึกษาจากมิชชันนารี ในขณะที่ติดตามบิดาไปอยู่ที่เมืองจันทบุรี ใน พ.ศ. 2378 หลวงสิทธิ์นายเวรได้ต่อเรือรบไทย (เรือกำปั่นรบ) ซึ่งเป็นเรือใหญ่ลำแรกในประเทศสยามที่ทำตามแบบฝรั่ง เป็นเรือบริกชนิดใช้ใบเหลี่ยมทั้งเสาหน้าและเสาท้ายสองเสาครึ่ง ตั้งชื่อเรือลำนี้ว่า เรือ “เอเรียล” (Ariel) หรือมีชื่อทางไทยว่าเรื่อ “แกล้วกลางสมุทร” หลวงสิทธิ์นายเวรได้นำเรือลำนี้ถวายรัชกาลที่ 3 เป็นที่โปรดปรานและพอพระราชหฤทัยมาก นอกจากนี้ยังได้ต่อเรือ “ระบิลบัวแก้ว” และยังได้ต่อเรืออื่น ๆ ที่จันทบุรีที่มีน้ำหนักขนาด 300-400 ตัน มีจำนวนมากกว่า 50 ลำ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้อำนวยการต่อเรือปืนที่เรียกว่าเรือ “กันโบต” ขึ้น 4 ลำได้แก่ เรือปราบหมู่ปรปักษ์ เรือหาญหักศัตรู เรือต่อสู้ไฟรีรณ และเรือประจัญปัจจนึก และต่อเรือกลไฟซึ่งได้แก่ เรืออรรคราชวรเดช และเรือเขจรชลคดี ขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 เรือที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ต่อขึ้นได้แก่เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ และเรือสุริยมณฑล 
2. การสร้างประภาคาร สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีความสนใจในการเรือมาตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่ม เมื่อเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็ยังคงสนใจในการเรือและมีกำลังอุดหนุนงานด้านนี้มากยิ่งขึ้น ท่านได้เล็งเห็นสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ในการเดินเรืออย่างหนึ่ง คือ ประภาคารหรือกระโจมไฟ เวลานั้นในประเทศสยามยังไม่มีประภาคาร สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงบริจาคทรัพย์ส่วนตัวสร้างประภาคารขึ้น เพื่อให้เป็นเครื่องหมายการนำเรือราชการและเรือสินค้าผ่านสันดอนเข้าออกได้โดยสะดวกที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2413 เสร็จเรียบร้อยเปิดใช้ใน พ.ศ. 2417 สิ้นค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน 18,021.25 บาท นับเป็นประภาคารที่สร้างขึ้นตามระบบมาตรฐานสากลดวงแรกของไทย ประภาคารแห่งนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษปรากฏในแผนที่เดินเรือไทยหมายเลข 1 a ว่า Bar or Regent Lighthouse ส่วนชื่อภาษาไทยเรียกว่า “กระโจมไฟสันดอน” และใช้เป็นเครื่องหมายการเดินเรือมาเป็นเวลานานถึง 55 ปี กับ 22 วัน (เลิกใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2472 
3. การทหาร ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะจัดการกรมทหารอย่างยุโรปให้รุ่งเรืองขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก (ช่วง บุนนาค) ควบคุมบังคับบัญชาจัดขึ้น เรียกว่า “ทหารอย่างยุโรป” ให้กัปตันนอกส์เป็นครูฝึก มีโรงทหารตั้งอยู่ที่บ้านพระยาศรีสุริยวงศ์ ณ ฝั่งแม่น้ำด้านตะวันตก มีสนามฝึกหัดอยู่ข้างวัดบุปผาราม
งานด้านการก่อสร้าง
            ในรัชกาลที่ 3 จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) ได้รับมอบหมายให้ลงไปเป็นแม่กองสร้างป้อมที่บางจะเกร็ง เพื่อให้เป็นที่อยู่ของแม่ทัพที่เมืองสมุทรปราการ สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2393 และพระราชทานนามว่า “ป้อมเสือซ่อมเล็บ”            ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้สร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทขึ้น ภายหลังจากเสร็จกลับจากประพาสสิงคโปร์และชวา เมื่อ พ.ศ. 2419 แต่เดิมจะสร้างพระที่นั่งเป็นยอดโดม ใช้เสด็จออกขุนนางโดยต่อเนื่องกับพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ โดยมีท้องพระโรงกลางเป็นทางต่อเชื่อม การสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนี้ สร้างเป็นตึกสามชั้น เจ้าพระยาภาษุวงษ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เป็นแม่กอง นายยอน คลูมิตธ์ เป็นผู้ออกแบบหลังคาเป็นยอดโดม แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้กราบบังคมทูลขอให้ทำเป็นยอดปราสาท ดังนั้นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทจึงเป็นศิลปผสมผสานระหว่างศิลปไทยและยุโรป ซึ่งเรียกกันตามสามัญว่า “หัวมงกุฎ ท้ายมังกร”
       งานทางด้านศาสนา
          สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้สร้างและปฏิสังขรณ์วัดไว้หลายแห่ง เมื่อครั้งที่ท่านยังเป็นที่จมื่นไวยวรนาถ ก็ได้ปฏิสังขรณ์วัดดอกไม้ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ในสวนแห่งหนึ่ง ไม่ห่างไกลจากบ้านที่ท่านอยู่ การปฏิสังขรณ์นี้ท่านได้ทำกับจมื่นราชามาตย์ (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ หรือ ขำ บุนนาค) ซึ่งเป็นน้อยชาย แล้วกราบทูลขอคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายจากสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎให้ไปครองวัดนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวชก็ได้เสด็จไปวัดนี้เสมอ และใช้เป็นที่ทรงศึกษาภาษาอังกฤษร่วมกับจมื่นไวยวรนาถ วัดที่ปฏิสังขรณ์ใหม่นี้ รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “วัดบุปผาราม”

            ภายหลัง พ.ศ. 2416 เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินท่านมักไปพำนักอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ณ จังหวัดนี้ ท่านได้สร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่งใน พ.ศ. 2422 เป็นวัดประจำตระกูลของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า “วัดสุริยวงษาวาส”

งานทางด้านวรรณคดี
           กิจจานุกิจของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในสมัยที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินประการหนึ่งคือ ประชุมนักปราชญ์ทางภาษาจีนให้แปลพงศาวดารจีนออกเป็นภาษาไทย เพราะเห็นว่า เรื่องเหล่านี้มีคติสอนใจเหมาะสำหรับประดับสติปัญญานักปกครองหรือขุนนางทั่วไป เรื่องที่ได้แปลไว้ได้แก่ ไซ้จิ้น น่ำซ้อง ซวยงัก ซ้องกั๋ง ไต้อั้งเผ่า และอื่น ๆ อีกมากมาย
           เกร็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
        เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดแต่งตั้งพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เสนาบดีผู้ช่วยกระทรวงกลาโหมแล้ว ก็โปรดเกล้า ฯ พระราชทานบ้านหลวงให้อยู่สมเกียรติของผู้จะเป็นเสนาบดีกลาโหมคนต่อไป คือ พระราชทานบ้านเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายก ซึ่งอสัญกรรมไปเมื่อ พ.ศ. 2392 อยู่ที่ริมคลองสะพานหันฝั่งตะวันออก ตรงข้ามวังบูรพา ให้เป็นจวนประจำตำแหน่งเสนาบดีกลาโหม ปรากฏว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้อยู่ที่จวนหลังนี้จนถึง พ.ศ. 2398 เมื่อบิดา คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ถึงแก่พิราลัย และท่านเจ้ารับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมเต็มที่แล้ว จึงไปสร้างบ้านใหม่อยู่ที่สวนวัดดอกไม้ ฝั่งธนบุรี อันเป็นโรงเรียนสมเด็จเจ้าพระยา หรือที่เป็นโรงเรียนศึกษานารีในปัจจุบัน

            ในแผ่นดินสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเถลิงราไชสุริยสมบัติ เป็นบรมกษัตริย์ครอบครองสยาม เจริญพระชนมายุได้ 15 ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จุดเทียนเล่มใหญ่เข้าไปในบ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เอาคัมภีร์หนีบรักแร้ ตาลปัตรทำหางเสือ จุดเทียนเล่มใหญ่เข้าไปที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ฯ ในเวลากลางวันแสก ๆ เดินรอบบ้าน (คลองสาน) สมเด็จเจ้าพระยา ฯ อาราธนาขึ้นบนหอนั่ง แล้วนมัสการว่า โยมไม่สู้มืดนักหรอกเจ้าคุณ อนึ่ง โยมนี้มีใจแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนาแน่นอนมั่งคงเสมอ อนึ่ง โดยทะนุบำรุงแผ่นดินโดยเที่ยงธรรมและตั้งใจประคับประคองสนองพระเดชพระคุณโดยตรงโดยสุจริต คิดถึงชาติ และศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นที่ตั้งตรงอยู่เป็นนิตย์ ขอเจ้าคุณอย่าปริวิตกให้ยิ่งกว่าเหตุไป